กรุงเทพฯ 1 พ.ย. – ธ.ก.ส. มุ่งฟื้นฟูเกษตรกร ผู้ประกอบการเกษตร ก้าวข้ามวิกฤต COVID-19 ช่วง 6 เดือนแรก กำไรสุทธิ 1,461 ล้านบาท ตั้งเป้าครึ่งปีหลัง ส่งเสริมแรงงานคืนถิ่นและคนรุ่นใหม่นับแสนราย ผลักดันระบบ Digital Banking
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวระหว่าง ในโอกาสครบรอบวันสถาปนา ธ.ก.ส. ก้าวสู่ปีที่ 56 ธ.ก.ส. ว่า ยังคงมุ่ง ดูแลเกษตรกรไทย ก้าวผ่าน COVID-19 หลังจากยอดนักท่องเที่ยวลดลง จากการปิดร้านอาหาร โรงแรม กิจการหลายแห่ง จึงเลิกจ้างงาน ทำให้แรงงานคืนถิ่น บัณฑิตจบใหม่ว่างงานจำนวนมาก บอร์ด ธ.ก.ส. สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อซ่อมแซมเครื่องมืออุปกรณ์ บ้านเรือน วงเงิน 10,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 5 แสนบาท คิดดอกเบี้ย MRR-2% ระยะเวลา 5 ปี
ที่ผ่าน ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการเยียวยา ผ่านโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 6,924,413 ราย เป็นเงินกว่า 60,000 ล้านบาท มาตรการบรรเทา ผ่านโครงการประกันภัยพืชผล ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 3.68 ล้านราย พื้นที่รวมกว่า 44.8 ล้านไร่ เมื่อเผชิญกับปัญหาอุทกภัย มีเกษตรกร เดือดร้อนกว่า 4.6 แสนราย พื้นที่เสียหายกว่า 5.3 ล้านไร่ ธ.ก.ส. จึงเร่งประสานกับ ปภ. เมินความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อเร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทน และยังได้ช่วยเหลือผ่านโครงการพักชำระหนี้ 1.79 ล้านราย ต้นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท
นายธนารัตน์ กล่าวต่อไปว่า ผลดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 (1 เมษายน – 30 กันยายน 2564) ปล่อยสินเชื่อแล้ว 299,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,994 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.77 ยอดเงินฝาก 1.78 ล้านล้านบาท สินทรัพย์รวม 2.12 ล้านล้านบาท เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ Basel II เป็นร้อยละ 12.32 รายได้รวม 41,084 ล้านบาท ขณะค่าใช้จ่ายรวม 39,623 ล้านบาท คงเหลือกำไรสุทธิ 1,461 ล้านบาท อัตราส่วน NPLs ต่อ Loan ร้อยละ 4.24
ธ.ก.ส. ประเมินภาวะเศรษฐกิจเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ไตรมาส 4 ขยายตัว ร้อยละ 2.8 คาดการณ์จีดีพีของประเทศขยายตัวร้อยละ 2.1 ได้รับปัจจัยบวกจาก ราคาสินค้าเกษตรและรายได้ในภาคเกษตร แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าเทียบกับครึ่งปีแรก และเศรษฐกิจคู่ค้าต้องการสินค้าเกษตร และการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.06 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธ.ก.ส.กำหนดแผน ดำเนินงานในช่วง 6 เดือนหลัง (1ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565) มุ่ง “ฟื้นฟูลูกค้า พัฒนาคุณภาพงาน สานต่อธุรกิจชุมชน มุ่งเน้นนวัตกรรมนำองค์กรสู่ความยั่งยืน” อย่างเช่น การบริหารจัดการหนี้โดยใช้เทคโนโลยี ควบคู่การพัฒนา ฟื้นฟูอาชีพลูกค้าเพื่อให้มีรายได้ ก้าวสู่การเป็นธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) รองรับสังคมยุคดิจิทัลและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ให้บริการทางการเงิน ผ่าน Banking Agent ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ไทย ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย และเคาน์เตอร์ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี โครงการให้บริการตู้ ATM ข้ามธนาคาร ธกรุงศรีอยุธยา และธ.กรุงไทย และในช่วงปลายปี 64 เตรียมยกระดับแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile รองรับให้บริการ เพื่อขายสลากออมทรัพย์ A-Mobile เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25
การสานต่อธุรกิจชุมชน ค้นหาลูกค้าใหม่ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการพัฒนาชุมชน โดยจัดการประกวดชุมชนอุดมสุขยอดเยี่ยมระดับประเทศ 5,216 ชุมชน เพื่อค้นหาชุมชนต้นแบบ การรองรับแรงงานย้ายถิ่น ผ่านโครงการ 1 สาขา สร้างอาชีพ สู้วิกฤติโควิด ช่วยเหลือแรงงานถูกเลิกจ้างและบัณฑิตจบใหม่ เข้ามาพัฒนาภาคการเกษตรนัน 100,000 ราย เพื่อเติมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อเป็นหัวขบวนของธุรกิจในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น การส่งเสริมใช้นวัตกรรม สนับสนุนเกษตรกรนำเครื่องมือทันสมัย การร่วมกับ สวทช. NECTEC NIA depa เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ได้มีโอกาสพบเจ้าของผลงาน ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ณ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ .-สำนักข่าวไทย