AOT พร้อมรับผู้โดยสารเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้

กรุงเทพฯ 29 ต.ค.-บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) พร้อมต้อนรับผู้โดยสารที่จะเดินทางมาใช้บริการในวันเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยได้นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาให้บริการ เพื่อลดการสัมผัสและเว้นระยะห่าง รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินที่จะฟื้นตัวในอนาคต


นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดเชียงใหม่ (เฉพาะพื้นที่ที่กำหนด) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ในส่วนของ AOT ซึ่งบริหารท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ตระหนักว่าในช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และส่งผลต่อวิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติตามแนวคิด Universal Prevention การป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาลของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบกับในแผนวิสาหกิจของ AOT (ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา) ได้วางแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรโดยได้กำหนดกลยุทธ์การนำ Digital Technology และนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงาน ดังนั้น การเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 AOT จึงมีความพร้อมให้บริการอย่างเต็มความสามารถ 

ทั้งนี้ ได้นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองการเดินทางแบบชีวิตวิถีใหม่ (Transport New Normal) มาให้บริการผู้โดยสาร รวมทั้งได้จัดให้พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกปลอดภัยเมื่อมาใช้บริการสนามบิน พร้อมกันนี้ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งได้จัดการฝึกซ้อมแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร เป็นต้น โดยการจำลองขั้นตอนการปฏิบัติทั้งในส่วนของกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการสนามบิน


สำหรับประมาณการปริมาณจราจรทางอากาศ ณ ทสภ.ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 มีสายการบินแจ้งทำการบินเที่ยวบินพาณิชย์ ประมาณ 440 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ ประมาณ 230 เที่ยวบิน เที่ยวบินระหว่างประเทศ ประมาณ 110 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขนส่งสินค้า ประมาณ 100 เที่ยวบิน โดยเมื่อประมาณการที่ร้อยละ 30 จากความจุของแบบอากาศยาน AOT จึงคาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่าน ทสภ.จำนวนทั้งสิ้น ประมาณ 30,000 คนแบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ ประมาณ 23,000 คน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 7,000 คน ซึ่ง AOT ได้นำเครื่อง KIOSK สำหรับเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service : CUSS) จำนวน 196 เครื่อง และเครื่อง KIOSK รับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) จำนวน 42 เครื่อง ที่มีมาตรฐานตามที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) กำหนด มาให้บริการผู้โดยสารในกระบวนการพิธีการผู้โดยสารขาออก ซึ่งได้ติดตั้งกระจายอยู่บริเวณแถวเช็กอินตั้งแต่ Row B ถึง Row U ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร ทสภ.

สำหรับเครื่อง CUSS Kiosk จะเป็นอุปกรณ์สำหรับอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารทำการเช็กอินด้วยตนเองผ่าน Application ของสายการบินที่ได้มีการติดตั้งไว้แล้ว รวมทั้งยังสามารถเลือกที่นั่งได้ด้วยตนเอง เพราะเครื่องจะแสดงรายละเอียดของที่นั่งได้เสมือนจริง ดูเข้าใจง่าย ทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดเวลารอคิวเช็กอิน นอกจากนี้ ผู้โดยสารสามารถเช็กอินล่วงหน้าเป็นเวลา 6 – 12 ชั่วโมงก่อนเดินทาง (ตามเงื่อนไขของแต่ละสายการบิน) และเมื่อผู้โดยสารเช็กอินด้วยเครื่อง CUSS เรียบร้อยแล้ว สามารถนำกระเป๋าสัมภาระโหลดผ่านเครื่อง CUBD ได้ด้วยตนเองนอกจากความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารสำหรับการเปิดประเทศแล้ว ในอนาคตที่การเดินทางจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติดังก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งจะทำให้ ทสภ.รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถ 

ดังนั้น AOT จึงได้วางแผนจะเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) เพื่อแบ่งผู้โดยสารมาจากอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งจะทำให้ ทสภ.สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคน โดยอาคาร SAT-1 เป็นอาคารที่อยู่ในเขตพื้นที่การบิน (Airside) จะให้บริการผู้โดยสารขาออกที่ได้ทำการเช็กอินและโหลดกระเป๋าสัมภาระ ณ อาคารผู้โดยสารหลักเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นผู้โดยสารเดินเข้าไปในเขต Airside ตรงไปยังด้านหลังเกษียรสมุทร บริเวณชั้น 4 Concourse D และลงไปยังสถานีรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคาร SAT-1 ในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า เมื่อลงเครื่องแล้ว ต้องลงไปยังชั้น B2 เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายัง


อาคารผู้โดยสารหลักไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า และจุดรับกระเป๋าสัมภาระต่อไป ส่วนผู้โดยสารต่อเครื่อง (Transit/Transfer Passenger) จะสัญจรเฉพาะระหว่างชั้น 2 และชั้น 3 เท่านั้น ทั้งนี้ ปัจจุบันอาคาร SAT-1 ซึ่งรวมถึงส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการทำงานร่วมกันของแต่ละระบบ และทดสอบเดินรถไฟฟ้า APM (System Demonstration) ในส่วนของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดอยู่ระหว่างการติดตั้ง และเชื่อมต่อกับระบบเดิม โดยสำหรับรถไฟฟ้า APM จะให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและอาคาร SAT-1 ในระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 นาที และสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คนต่อขบวน หรือประมาณ 5,900 คนต่อชั่วโมง

สำหรับอาคาร SAT-1 มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 เป็นชั้นของสถานีขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 สำหรับผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 เป็นร้านค้า และร้านอาหาร โดยอาคาร SAT-1 มีหลุมจอดอากาศยาน 28 หลุมจอด แบ่งเป็นอากาศยานแบบ Code E จำนวน 20 หลุมจอด และแบบ Code F จำนวน 8 หลุมจอด AOT ได้ออกแบบอาคารโดยการต่อยอดสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนกับอาคารเทียบเครื่องบินเดิม 

โดยหลังคาตรงกลางของอาคารจะถูกยกให้สูงขึ้นกว่าส่วนอื่น ๆ เป็นลักษณะเลียนแบบการไล่ระดับหลังคาเป็นชั้น ๆ ในสถาปัตยกรรมไทยและภายในอาคารได้ติดตั้งประติมากรรมช้างเผือก “คชสาร(น)” ซึ่งช้างถือเป็นสัตว์ท้องถิ่นประจำชาติไทย โดยติดตั้งไว้บริเวณโถงกลางทำให้เกิดเป็นจุดหมายตาแรกของอาคาร รวมถึงห้องน้ำในบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ได้มีการออกแบบ โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก อีกทั้งยังได้นำเอาเอกลักษณ์หรือลักษณะเด่นในแต่ละภาค ประเพณีวัฒนธรรม เช่น ประเพณีลอยกระทง มวยไทย เป็นต้น มาใช้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของพื้นที่และช่วยให้ผู้โดยสารจดจำพื้นที่ง่ายขึ้น ตลอดจนมีการตกแต่งสวนประดับที่บริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ให้เป็นสวนแนวตั้งเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย

นายนิตินัย กล่าวในตอนท้ายว่า AOT ในฐานะประตูสู่ประเทศไทยที่ต้อนรับผู้โดยสารจากทั่วโลก ขอยืนยันความพร้อมในการให้บริการของสนามบินในความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่งตามแผนการเปิดประเทศของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัยที่ดีของผู้ใช้บริการสนามบินตามมาตรการ Universal Prevention ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย และเกิดความเชื่อมั่นในการเดินทางมายังประเทศไทย อันจะนำมาสู่การฟื้นฟูทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และช่วยขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

“เหนือ-อีสาน-กลาง” อากาศเย็น ภาคใต้ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯ รายงานภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง