นนทบุรี 15 ต.ค.-สนค.ระบุควรส่งเสริมชุมชนแก้จุดอ่อนสร้างจุดแข็ง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ สร้างโอกาสทางการตลาด และเพิ่มรายได้ด้วย 5 หลักการได้แก่ วิสัยทัศน์ผู้นำ สไตล์การออกแบบ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก บรรจุภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด และสร้างชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดทำโครงการศึกษาการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน/วิสาหกิจ เพื่อสังคม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับสินค้าและบริการชุมชนนั้น โดยพบว่า ชุมชนมีจุดแข็งด้านปัจจัยการผลิต มีแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทำให้ชุมชนสามารถสร้างสินค้าและบริการได้ด้วยตนเอง แต่ชุมชนยังขาดการสร้างจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก ทำให้สินค้าและบริการของชุมชนไม่มีความแตกต่างและเอกลักษณ์ของตนเอง รวมไปถึงขาดการรับรองมาตรฐานสินค้า
ทั้งนี้ สนค. เห็นว่า แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ประสบความสำเร็จจะต้องเร่งแก้ไขจุดอ่อน โดยมีหลักการและแนวคิด 5 ข้อ ได้แก่ 1. วิสัยทัศน์ผู้นำ จะทำให้ค้นหาความโดดเด่นของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ในชุมชน 2. สไตล์การออกแบบ เน้นการสื่อสารของผลิตภัณฑ์ให้มีสไตล์ รสนิยม เพิ่มเสน่ห์ของชุมชน และความสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสกับผลิตภัณฑ์และมาท่องเที่ยวในชุมชน 3. สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก มีการสื่อสารผ่านรูปภาพและตัวหนังสืออย่างตรงไปตรงมา และใส่เอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อสร้างภาพจำและความประทับใจแก่ผู้พบเห็น 4. บรรจุภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด จะต้องแข็งแรง ทนทาน มีความสะดวกในการใช้งาน รูปทรงสวยงาม มีความสมดุลของรูปภาพและบรรจุภัณฑ์ และการจับคู่สีที่เหมาะสม รวมถึงความเป็นมาตรฐานสากล และ 5. สร้างชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยการสร้างกิจกรรม DIY (Do it yourself) เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงคุณค่าของสินค้า และจะส่งผลให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่การอบรมให้ความรู้การค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเล็งเห็นว่า การปูพื้นฐานความรู้และสนับสนุน การค้าจะมีส่วนช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและเติบโตได้ สร้างโอกาสทางการตลาด เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนให้กับเศรษฐกิจฐานราก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทยต่อไป.-สำนักข่าวไทย