กรุงเทพฯ 27 ก.ย.-รมว.คลัง มั่นใจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สู้วิกฤติโควิด-19 ดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ โต 1.3% ก่อนขยายตัว 4-5% ในปี 2565 พร้อมเผย 6 แนวทางจับมือภาคเอกชน 6 ด้าน ช่วยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงาน “Sustainable Thailand 2021” ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบ และรัฐบาลได้นำนโยบายการเงินการคลัง มาช่วยเหลือภาคธุรกิจและลูกจ้าง ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรักษาการบริโภคในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 จะเติบโตอยู่ในระดับ 1.3% และในปี 2565 จะรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอยู่ที่ระดับ 4-5% โดยภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลวางแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการคลัง เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีการเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในแผนดังกล่าวจะวางแนวทางในการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
สำหรับการฟื้นตัวระยะยาว ที่ต้องกิดจากความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐและเอกชนมีความสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 6 แนวทางสำคัญ คือ 1. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยการเน้นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) ซึ่งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 2. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ 12 เป้าหมาย รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนใน EEC ที่ในอนาคตจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย
3. การสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือด้านระบบ e-Tax หรือการทำธุรกรรมกับรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดต้นทุนจากธุรกรรมเงินสด 4. การให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายรับรองทางสังคม โดยพลเมืองทุกคนควรได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม
5. การลดความเหลื่อมล้ำและการแก้ปัญหาความยากจน โดยการวางนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการต่าง ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในประเทศ การเร่งกระจายรายได้ และ 6. บทบาทของตลาดทุนและตลาดเงิน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการทรัพยากรทางการเงินในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการเงินสีเขียว (Green Finance) ที่รองรับธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต.-สำนักข่าวไทย