กรุงเทพฯ 23 ก.ย. – ส.อ.ท.เผยยอดขาย ส่งออก ผลิตรถยนต์เดือน ส.ค. หดตัว จากล็อกดาวน์-ขาดแคลนชิป ด้าน Krungthai COMPASS วิเคราะห์ ระบบ” ไรเดอร์” แรงขับเคลื่อนใหม่ของยอดซื้อรถจักรยานยนต์
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนส.ค. 64 อยู่ที่ 42,176 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38.80% ต่ำสุดในรอบ 15 เดือนจากปัญหาล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 64 ส่งผลลูกค้ากังวลรายได้ในอนาคต จึงถอนมัดจำและเลื่อนการรับรถ ประกอบกับมีการชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่นที่ยังมีการจองอยู่แต่ขาดชิปและชิ้นส่วน จึงไม่สามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้
ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศ 8 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ส.ค.64) รถยนต์มียอดขาย 467,809 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.4% อย่างไรก็ตามหลังจากที่รัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมีนโยบายเปิดประเทศที่จะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นคาดว่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศในช่วงปลายปีมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ยังคงเป้าหมายยอดขายที่ปรับใหม่ในปีนี้จาก 1.5 ล้านคันเป็น 1.55-1.6 ล้านคัน เนื่องจากการส่งออกดีขึ้น จึงเพิ่มเป้าหมายรถส่งออกจาก 7.5 แสนคันเป็น 8-8.5 แสนคัน ส่วยในประเทศคงเป้าการหมายเดิม 7.5 แสนคัน
สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนส.ค. ส่งออกได้ 59,571 คัน ต่ำสุดในรอบ 4 เดือนเนื่องจากต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่นที่ขาดชิปและชิ้นส่วน ประกอบกับตลาดเอเชียมีการระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้น
ด้านการผลิตรถจักรยานยนต์ เดือนสิงหาคม 64 ผลิต 120,674 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม63 ราว 28.83% ส่วนยอดผลิต 8 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 1,512,768 คัน เพิ่มขึ้นจากปี63 ราว 26.99% ส่วนยอดขายเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 104,424 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปี63 ราว 27.20 %แต่ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 64 ราว 9.69% ส่วนยอดขาย 8 เดือนแรกของปีนี้ มียอดขาย 1,092,326 คัน เพิ่มขึ้น 7.90 %
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASSวิเคราะห์ว่า วิถีการใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ On Demand Delivery มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมาก และไรเดอร์หันมาใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะหลักในการขนส่งนี้ อาจเป็นแรงผลักดันให้ยอดขายมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ขยายตัวสูงในระยะข้างหน้า ตลาด On Demand Delivery ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง และครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคมากขึ้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดจักรยานยนต์ควบคู่ไปกับรายได้เกษตรกร ไรเดอร์เป็นอาชีพที่จำเป็นต้องใช้มอเตอร์ไซค์ ซึ่งรายได้เฉลี่ยของไรเดอร์ทั้งประเทศหลังหักต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่อนชำระค่างวดของมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะสมกับไรเดอร์ (ไม่เกิน 150 ซีซี และเป็นเกียร์อัตโนมัติ) นอกจากนั้น แพลตฟอร์มหลายแห่งยังมีการสนับสนุนสินเชื่อพิเศษในการซื้อจักรยานยนต์ที่อาจทำให้ภาระต่อเดือนในการซื้อมอเตอร์ไซค์ลดลงได้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย