กรุงเทพฯ 25 ส.ค.-รมว.เกษตรฯ เร่งแก้ปัญหากล้วยไม้ไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากส่งออกได้น้อยลงและราคาตกต่ำ เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งรัดขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการด้านกล้วยไม้ พ.ศ. 2563-2565 รวม 4 แนวทางคือ ด้านการตลาดซึ่งเน้นย้ำให้ขยายตลาดกล้วยไม้ไทยในประเทศทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายของกล้วยไม้ไทย ด้านการเงินให้หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ด้านการขนส่งให้ขอความร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ในการคิดค่าขนส่งราคาถูก และด้านแรงงานเพื่อให้มีแรงงานตัดและรวบรวมผลผลิตอย่างถูกกฎหมาย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับซึ่งได้จัดประชุมหารือคณะอนุกรรมการฯ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อการส่งออกแล้วทำให้ผลผลิตราคาตกต่ำ
นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นวงกว้าง โดยต้นกล้วยไม้ยังคงให้ผลผลิตในแปลงปลูกได้ตามปกติ สวนทางกับปริมาณการส่งออกที่ลดลง ทำให้มูลค่าการส่งออกและราคาจำหน่ายในภาพรวมลดลงตามไปด้วย ที่ผ่านมามีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการตลาดได้ขยายตลาดในประเทศ โดยขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงานให้ช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนการใช้กล้วยไม้ไทยในโอกาสต่างๆ และประชาสัมพันธ์ขยายช่องทางการตลาดสำหรับสินค้ากล้วยไม้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งจัดนิทรรศการส่งเสริมการใช้กล้วยไม้ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ด้านการเงินได้ขอความอนุเคราะห์ธนาคารเพื่อการเกษตรเเละสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสมาคมธนาคารไทยเพื่อขอรับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและสินเชื่อ Refinance ให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออกสินค้ากล้วยไม้
ด้านขนส่งได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคม ในการขอรับการสนับสนุนในการลดต้นทุนค่าขนส่ง ด้านแรงงานซึ่งครม. มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมาให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 มีแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ปลูกกล้วยเลี้ยงไม้และผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่องได้แก่ 1.การจัดกล้วยไม้สัญจร โดยสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยไม้ไทย จำกัดจัดทำแผนการจัดการกล้วยไม้สัญจรในปี 2564 ทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง 2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งเจรจาลดค่าขนส่ง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
3. การดูแลแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม โดยประสานงานกับกรมชลประทานในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มและบริหารจัดการน้ำต้นทุนในการผลักดันน้ำเค็ม พร้อมสนับสนุนรถบรรทุกน้ำในการบริการช่วยเหลือเกษตรกร
4.การชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการส่งเสริมสภาพคล่องในการรวบรวมผลผลิตกล้วยไม้ตัดดอกปี 2565 เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2565
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเพิ่มเติมให้มีคณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ โดยใช้งบประมาณภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ต่อไป. – สำนักข่าวไทย