กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – เอกชนขานรับข่าวดี แอสตราฯ ส่ง 61 ล้านโดส ภายในสิ้นปี ย้ำต้องปรับแผนกระจายวัคซีน สู่ภาคการผลิตและต่างจังหวัด พร้อมเสนอเตรียมกระตุ้นเข็ม 3
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่แอสตราเซเนกาได้ยืนยันว่าจะส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยให้ครบ 61 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคมนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและส่งจะผลดีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศไทย เพราะภายในสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะมีจำนวนวัคซีนทุกประเภทรวมกันแล้วเกินกว่า 120 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกว่า 60 ล้านคน ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส สำหรับประชากร 50 ล้านคน และหากเร่งฉีดได้ครบตามจำนวนวัคซีนที่มีดังกล่าว ก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในขณะที่ภาคธุรกิจก็สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มเติมมากขึ้นนั้น จำเป็นที่จะต้องปรับแผนการกระจายวัคซีนให้สอดคล้องตามไปด้วย ซึ่งหอการค้าไทยยืนยันว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 ศูนย์ของภาคเอกชน ยังสามารถรองรับปริมาณผู้เข้ารับบริการได้มากถึงวันละ 80,000 คน
สำหรับภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ถือเป็นฟันเฟืองที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากในขณะนี้ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง แต่ในกลุ่มภาคการผลิตเหล่านี้สามารถปรับตัวและประคองธุรกิจของตัวเองให้ก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตินี้ไปได้ ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของไทยยังเติบโตได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หากภาครัฐเร่งการกระจายวัคซีนและควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับภาคการผลิตเหล่านี้ได้
“การวางแผนกระจายวัคซีนและการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทุกคนต้องการเข้าถึงวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด แต่ที่ผ่านมาวัคซีนยังเข้าถึงประชาชนได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เนื่องจากปริมาณวัคซีนที่มีจำกัด แต่เมื่อมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นแล้วก็ต้องจัดสรรและกระจายให้ทั่วถึงตามลำดับความจำเป็น เช่น กระจายไปสู่กลุ่มประชาชนในภาคการผลิต เพื่อให้ภาคการผลิตไม่หยุดชะงัก กระจายไปยังต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว เพื่อให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นเริ่มกลับมาได้ รวมทั้งเร่งฉีดเชิงรุกให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค สตรีมีครรภ์) นอกจากนั้น ภาครัฐควรเริ่มมองหาแนวทางการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชนในกรุงเทพฯ ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มในระยะแรก เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีภูมิต้านทานลดน้อยลง และไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคสายพันธุ์เดลต้าได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นด้วย หอการค้าไทยจะมีการติดตามว่า วัคซีนจะเข้ามาถึงประเทศไทยในช่วงเวลาใด จำนวนวัคซีน และจะกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เป็นอย่างไร เพื่อที่ภาคเอกชนจะได้มีการวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ” นายสนั่น กล่าว
นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการบริหาร และประธานกลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด 19 ที่เข้มข้น การเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง และการได้รับวัคซีนเพิ่มเติมอีก 61 ล้านโดสจากภาครัฐ จะเป็นเสมือนการฉีดวัคซีนเร่งด่วนให้กับธุรกิจภาคค้าปลีกและบริการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ จะส่งผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกและบริการมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทล ได้สนับสนุนพื้นที่และระบบปฎิบัติการครบวงจรที่มีประสิทธิภาพ (Total Solutions) ในการเป็นจุดให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล กว่า 33 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยภาครัฐในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง และในส่วนของการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เราร่วมกับหอการไทยฯ ได้เปิดตัวแคมเปญ “ฮักไทย” รวมใจไทย ไม่ทิ้งกัน กระตุ้นให้คนไทยหันมาอุดหนุนสินค้าไทยเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย และสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งความสุข ประเทศไทยจะสามารถเปิดประเทศได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากร นั่นคือจุดมุ่งหมายของการร่วมแรงร่วมใจของภาครัฐและเอกชนเพื่อผลักดันให้มีการเปิดประเทศอย่างเร็วที่สุด ประชาชนทุกคนจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และประเทศไทยจะพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิไทยให้กับมาแข็งแรงได้ดังเดิม
นางสาวปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอนเมืองพัฒนา จำกัด ผู้บริหารตลาดสี่มุมเมือง กล่าวว่า การมีวัคซีนเพียงพอและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นการควบคุมโรคและทำให้คนกลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติ “ตลาดสี่มุมเมืองเป็นศูนย์กลางค้าส่งขนาดใหญ่ของประเทศ มีแรงงานและพ่อค้าแม่ค้ากว่า 40,000 คน เป็นแหล่งรวมสินค้าจากเกษตรกรทั่วประเทศกระจายออกไปยังกรุงเทพ ปริมณทลและทั่วทุกภูมิภาค การฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วเป็นการวางรากฐานในการสร้างภูมิคุ่มกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างแท้จริง เมื่อผู้คนมีความมั่นใจเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ และสามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ก็จะเกิดการหมุนเวียนของเงินตั้งแต่ต้นทางคือเกษตรกร ไปยังพื้นที่ปลายทางคือ ตลาดสด ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต นำมาซึ่งการสร้างงานและก็ให้เกิดรายใด้กับชุมชน มีส่วนช่วยให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย.-สำนักข่าวไทย