นนทบุรี 11 ส.ค.-กรมการค้าต่างประเทศจับมือสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยหารือหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าข้าวของรัฐบาลมาเลเซีย (BERNAS) ผ่านระบบ Video Conference คาดครึ่งปีหลังมาเลเซียนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยบวกด้านราคาทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้มากขึ้น
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในฐานะ Salesman ประเทศ ได้จัดการประชุมหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าข้าวของรัฐบาลมาเลเซีย (Padiberas Nasional Berhad : BERNAS) ผ่านระบบ Video Conference โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลักดันการส่งออกข้าวไทยไปยังมาเลเซียในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าข้าว
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวของไทยและมาเลเซีย โดยฝ่ายไทยได้แจ้งให้ BERNAS ทราบถึงสถานการณ์การผลิตข้าวของไทยในปี 2564 ซึ่งคาดว่าไทยจะมีผลผลิตข้าวมากขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ รวมทั้งแรงงานในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนาในช่วงสถานการณ์โควิด ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ปัจจุบันราคาข้าวไทยปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับข้าวจากประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดียและเวียดนาม ฝ่ายไทยจึงขอให้ BERNAS พิจารณานำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้แทน BERNAS ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดข้าวในมาเลเซียว่า มาเลเซียมีผลผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศประมาณปีละ 9 แสนตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30-35 ของปริมาณความต้องการบริโภคทั้งหมด ซึ่งในปี 2564 นี้ คาดว่ามาเลเซียจะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีปริมาณ 1.08 ล้านตัน เนื่องจากมีปัญหาด้านการเพาะปลูกในประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นแหล่งนำเข้าข้าวหลักของมาเลเซียมาโดยตลอดเนื่องจากข้าวไทยมีคุณภาพดีและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวมาเลเซีย อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา BERNAS จำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากแหล่งอื่น เช่น อินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม เพิ่มขึ้น แม้ว่าคุณภาพข้าวจะด้อยกว่าไทยแต่เนื่องจากประเทศเหล่านี้สามารถส่งข้าวในราคาที่ถูกกว่าข้าวไทยมาก
นอกจากนี้ BERNAS เห็นว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อุปสงค์ของข้าวไทยจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาข้าวไทยลดลงมาอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อได้ ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยด้านราคาที่ปรับตัวลดลงทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้มากขึ้นแล้ว ผู้บริโภคในมาเลเซียยังเชื่อมั่นในคุณภาพและนิยมข้าวไทยมากกว่าข้าวจากแหล่งอื่น โดยจะเห็นได้จากปริมาณคำสั่งซื้อข้าวจากไทยที่เริ่มมีมากขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ BERNAS ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในมาเลเซียว่าควรเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย ประชาชนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ รวมถึงอุปสงค์จากธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้อุปสงค์ข้าวไทยเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ BERNAS แสดงความขอบคุณไทยสำหรับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอดโดยเฉพาะในฐานะแหล่งนำเข้าข้าวที่มีคุณภาพ และยินดีที่จะร่วมสนับสนุนข้าวไทยในตลาดมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด – 19 ส่งผลให้กรมฯ ไม่สามารถเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าข้าวหลักในประเทศต่าง ๆ ได้ แต่กรมฯ ยังคงมีแผนจัดการประชุมหารือและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของไทย ผ่านระบบ Video Conference อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ข้าวไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยที่ผ่านมา ได้มีการหารือผ่านระบบ Video Conference กับสมาคมผู้นำเข้าข้าวของฮ่องกงและผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ในระยะต่อไปกรมฯ มีแผนหารือกับบังกลาเทศ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ข้าวไทยมีส่วนแบ่งในตลาดเป้าหมายเพิ่มขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยตั้งแต่ (1 ม.ค. – 29 ก.ค.) ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 2.74 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1,671 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินบาทประมาณ 50,925 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงจากปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 17.07 และร้อยละ 24.84 ตามลำดับ แต่คาดว่าในช่วง 6 เดือนหลังสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยน่าจะดีกว่า 6 เดือนแรกตามปัจจัยที่ได้กล่าวไปแล้ว.-สำนักข่าวไทย