กรุงเทพฯ 4 ส.ค.-คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ในปี 2564 ขยายตัวติดลบร้อยละ 1.5-0 ยอมรับวิกฤติโควิด-19 ที่ยังคุมการระบาดไม่ได้ กระทบทุกอาชีพ กำลังทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอย ถลำลึก ไปกว่าที่คาดการไว้มาก
นายผยง ศรีวณิช ประธาน กกร. และ สมาคมธนาคารไทย กล่าวภายหลังการประชุม กกร.ในวันนี้ว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ขณะนี้ ยังควบคุมการระบาดไม่ได้ มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทุกวัน กำลังทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นปีที่ 2 ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์กำลังทำให้เศรษฐกิจไทยถลำลึกไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้ไทยฟื้นตัวและเปิดประเทศยาก โดยผลกระทบที่มีขณะนี้ กระทบทุกสาขาอาชีพ ลูกจ้าง เอสเอ็มอี และการระบาดกำลังเริ่มกระทบภาคการผลิต ซึ่งอาจกระทบภาคการส่งออกได้ ดังนั้น กกร. จึงได้ ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ในปี 2564 ขยายตัวติดลบร้อยละ 1.5 – 0
“ส่วนภาคการส่งออก ในปี 2564 กกร.ประมาณการว่า จะขยายตัวที่ร้อยละ 10-12 แต่ภาครัฐต้องระมัดระวัง ไม่ให้การระบาดของโควิด- 19 ที่มีในโรงงาน ส่งผลกระทบไปสูภาคการผลิตเพื่อการส่งออกอีก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ” นายผยง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจทุกภาคส่วน ต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซายาวนานจากมาตรการควบคุมการระบาด ที่เข้มงวด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และลูกจ้างแรงงาน สะท้อนจากลูกหนี้ที่อยู่ในการดูแลช่วยเหลือของธนาคารต่างๆ ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.89 ล้านบัญชี หรือเป็นยอดเงินราว 2 ล้านล้านบาท โดยในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว และการค้าขายทั่วไป
ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันบูรณาการมาตรการการจำกัดวงจรของการระบาด โดยการเร่งหาวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอสำหรับความต้องการของประชาชนและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้โดยเร็ว และการเร่งกระจายการตรวจหาเชื้อโดย Antigen Test Kit เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อโดยเร็ว
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวตอบคำถามกรณีที่ยอดผู้ติดเชื้อทะลุมากกว่า 20,000 รายในวันนี้ และมีการพูดถึง การล็อคดาวน์ เต็มรูปแบบ เพื่อควบคุมการระบาดนั้น นายสนั่นกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะถึงล็อคดาวน์มากขึ้น แต่ไม่การเข้าตรวจเชิงรุก ไม่มีการเข้าคัดแยก ออกมารักษา รวมถึงเร่งฉีดวัคซีน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร โดยปัญหาดังกล่าวมีให้เห็นแล้วในประเทศมาเลเซีย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)กล่าว่า ภาคเอกชน เห็นว่า รัฐบาลควรเปิดกว้างให้มีการนำเข้าวัคซีนมากกว่าปัจจุบัน และใช้งบประมาณในการแบกภาระค่าชุดตรวจ ATK และ การจัดซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณคนละ 2,000 -3,000 บาท ซึ่งเทียบแล้วถือว่าใช้งบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสียหาย ที่รัฐบาลต้องเข้าไปเยียวยาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ภาคแรงงานที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนโดยด่วน เพื่อควบคุมการระบาดขณะนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กกร.มีข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่
1. เสนอขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90ออกไปอีก1ปี ของการจัดเก็บภาษี ปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม2565 จนถึงวันที่31ธันวาคม2565)
2.เสนอภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นร้อยละ 60 ขึ้นไป เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากขึ้น
3.ขอกรมสรรพากร ยกเว้นภาษี SMEs 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax
4.รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19
5.เสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย
6.ให้ อย. เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น
7.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19
8.ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา “ฟาวิพิราเวียร์” ที่กำลังมีความต้องการสูง .-สำนักข่าวไทย