กรุงเทพฯ 29 มิ.ย. – กฟผ.เสนอผลิตไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำ 5 พันเมกะวัตต์ ลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาท ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ จากเดิมได้รับการอนุมัติเพียง 2,725 เมกะวัตต์ “บุญญนิตย์” ชี้ศักยภาพ กฟผ.สูงถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ หากรับได้รับอนุมัติ ต้นทุนค่าไฟต่ำ ลดโลกร้อน ช่วยผู้ส่งออกแข่งขันรับเทรนด์กีดกันทางการค้า
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกาศแผนลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในอนาคต มีการนำมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ non-tariff barriers มาใช้ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทย หากไม่เตรียมพร้อม โดย กฟผ.สนับสนุนการซื้อขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) และพร้อมจะขายเครดิตผ่านโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งจากการที่ กฟผ.มีพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายเขื่อนได้เสนอกระทรวงพลังงานว่า ตามแผนพลังงานใหม่ กฟผ.พร้อมจะขยายสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำเพิ่มจาก 2,725 เมกะวัตต์เป็น 5 พันเมกะวัตต์ แม้ว่าส่วนตัวคำนวณแล้วว่า กฟผ.มีศักยภาพผลิตได้ถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ก็ตาม โดยปัจจุบัน โครงการแรก เขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์ นับเป็นระบบไฮบริดจ์ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมจะผลิตเข้าระบบ กันยายนนี้และโครงการที่ 2 เขื่อนอุบลรัตน์ ก็พร้อมจะเปิดประมูลไตรมาส 1ปีหน้า โดยโรงไฟฟ้าระบบนี้สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำมาก
“โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำมาก เฉลี่ยไม่เกิน 1.50 บาท/หน่วย มีการใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคพื้นฐานจากพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนที่มีความพร้อมในการลงทุนสายส่งและสถานีไฟฟ้าย่อยอยู่แล้ว ประกอบกับต้นทุนแผงโซลาร์ถูกลง ก็เชื่อมั่นว่า การประมูลโครงการอื่นๆจะได้ต้นทุนต่ำเช่นกัน และเป็นการใช้น้ำจากเขื่อนได้ใช้งานอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยช่วงกลางวันเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯและกลางคืนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ทำให้ประเทศมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ และไม่ต้องรุกพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อทำโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า” นายบุญญนิตย์ กล่าว
ปัจจุบันโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ.ที่ทำแผนก่อสร้าง 9 เขื่อนนั้น เป็นการคำนวณจากการติดตั้งโซลาร์ฯในเขื่อนเป็นการออกแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่เพียง 1% ของเขื่อนเท่านั้น เช่น เขื่อนสิรินธร ติดตั้ง 45 เมกะวัตต์คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1% หากเพิ่มเป็น 10%ของพื้นที่ ก็จะผลิตได้ถึง 450 เมกะวัตต์เป็นต้น โดยตามแผนพีดีพีปัจจุบันได้รับการอนุมัติลงทุนถึงปี 2580 รวม 2,725 เมกะวัตต์ ก็น่าจะร่นระยะเวลาลงมาให้สั้นลง ให้เหลือ 10 ปี โดย 5 ปีแรก โดยตามแผนงานปัจจุบัน ขนาดกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หากขยายเพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือไม่เกิน 2 แสนล้านบาท
สำหรับโครงการโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น (Hydro-floating Solar Hybrid )” ขนาด 24 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดขายเอกสารเชิญชวน(TOR) และเปิดประมูลได้ภายในปลายปีนี้ หรือ ช่วงไตรมาส 1ปี2565 เบื้องต้นมูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดย ผู้ว่า กฟผ.ย้ำว่า โครงการใหม่นั้นจะมีการเน้นย้ำการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เช่น ระบบทุ่นลอยน้ำที่โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกของไทย ผลิตได้ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนก็จะต้องแข่งขันได้เช่นกัน.-สำนักข่าวไทย