นนทบุรี 25 มิ.ย.-รัฐมนตรีพาณิชย์ เผยตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค. ยังเป็นบวกต่อเนื่องร้อยละ 41.59 เป็นเดือนที่ 6 สูงสุดในรอบ 11 ปี ตามเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แม้ยังเจอพิษโควิดอยู่ก็ตาม พร้อมมั่นใจทั้งปีส่งออกไทยเกินกว่าร้อยละ 4 โดยยังไม่ปรับเป้าหมาย แต่จะทำให้ดีที่สุด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ยอดการส่งออกเป็นบวก อยู่ที่ร้อยละ 41.59 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นเดือนที่ 6 ถือว่าสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 23,057.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากรวมทองคำและน้ำมัน รวมถึงยุทธปัจจัยต่างๆ ตัวเลขส่งออกของไทยบวกถึงร้อยละ 45.87 โดยการส่งออกเดือนพฤษภาคม ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากหักทองคำ น้ำมัน และยุทธปัจจัย ออกด้วยกัน ซึ่งเมื่อดูทิศทางส่งออกในหลายประเทศทั่วโลก การส่งออกฟื้นตัวและกลับมาเป็นบวกด้วยเช่นกัน และเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลกที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากประเทศต่างๆ เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังในหลายประเทศ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และอีกหลายประเทศด้วยกัน
ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าสินค้าในเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 22,261.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นบวกร้อยละ 63.54 โดยไทยยังได้ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 795.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 โดยเป็นยอดส่งออกทั้งสิ้น 108,635.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึงร้อยละ 10.78 ขณะที่การนำเข้ามียอดอยู่ที่ 107,141.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นบวกร้อยละ 21.52 ทำให้ไทยเกินดุลการค้าช่วง 5 เดือน อยู่ที่ 1,494.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารสดและเกษตรของไทยหลายตัวยังมีความต้องการของตลาดโลกสูงขึ้น รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ถุงมือยาง ที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลดีกับราคายางพาราของไทยในช่วงนี้ดีขึ้นด้วย รวมถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยเริ่มส่งออกได้มากขึ้น แม้ว่าทั้งโลก รวมถึงไทย ยังเจอปัญหาโควิด-19 ระบาดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า การส่งออกไทยในเดือนถัดไปยังคงเป็นบวก โดยน่าจะบวกเพิ่มขึ้นเป็น 2 หลัก แม้ว่าปัญหาโควิดทั่วโลกยังระบาดอยู่ แต่เชื่อว่าโอกาสและความต้องการสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหารจากทั่วโลกมีความต้องการสูง แม้ว่าประเทศไทยยังประสบปัญหาโควิดระบาดตามโรงงานผลิตสินค้าอาหารอยู่บ้าง แต่ถือว่าไม่ใช่เป็นการระบาดทุกโรงงานทั่วทั้งประเทศ อาจจะมีบางโรงงานเท่านั้นที่ปิดปรับตัว แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสายการผลิตสินค้าอาหารไทยเพื่อการส่งออกแต่อย่างใด ประกอบกับปัญหาอุปสรรคด้านขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า โดยจะกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนกำลังเร่งหาทางแก้ไขปัญหากันอยู่ โดยเฉพาะมีความคิดที่จะให้มีการเปิดท่าเทียบเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ 400 เมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้คุยกับทางกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือฯ ไว้ 2 ปี อาจจะให้เปิดเป็นการถาวร โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเปิดท่าเทียบเรือขนาดดังกล่าวเป็นแบบถาวรในระยะยาวได้ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มองว่าโอกาสที่การส่งออกของไทยหลังจากนี้อยู่ในแดนบวก แต่จะบวกมากน้อยแค่ไหน คงจะต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งการทำงานทั้งข้าราชการและภาคเอกชน โดยเฉพาะการเดินหน้าหาตลาดใหม่ เพื่อเร่งผลักดันการส่งออกเป็นภารกิจสำคัญ ดังนั้น ยังคงมองว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 2564 บวกได้ร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 240,727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจจะมากกว่านี้ได้ และในขณะนี้จะยังไม่มีการปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกในปีนี้ แม้ว่าจะเป็นบวกมากกว่านี้ก็ตาม เพราะตามเป้าหมายจะให้ทุกฝ่ายทำงานบุกตลาด ทั้งตลาดหลัก ตลาดรอง และตลาดใหม่ๆ ให้มากและให้ดีที่สุด ทำให้เต็มที่สุดความสามารถ เพื่อให้สินค้าไทยส่งออกในทุกทางไปยังตลาดทั่วโลกให้มากยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย