กรุงเทพฯ 22 มิ.ย.- ราคาแอลเอ็นจีตลาดจรขาขึ้น สูงกว่าอ่าวไทย 1 เท่าตัว ด้าน ปตท.ชี้ ดีมานด์ก๊าซฯเพิ่มเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ปรับตัว ตอบโจทย์ลูกค้าพร้อมบริการ ” Energy Solution Provider”
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท เปิดเผย ว่าความต้องการก๊าซธรรมชาติของประเทศ ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากที่โรงงานผลิตสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ความต้องการก๊าซในขณะนี้กลับมาเท่ากับปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ตลาดจรพบว่าราคาค่อนข้างสูงอยู่ที่ 11-12 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ในขณะที่ราคาอ่าวไทยอยู่ที่ 6-6.5 เหรียญต่อล้านบีทียู ส่วนการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีสำหรับตลาดเสรีคาดว่าอาจนำเข้าถึง 1 ล้านตันต่อปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานจะกำหนดปริมาณที่ก่อให้เกิดปัญหาเทคออร์เพย์หรือไม่กระทบกับสัญญาก๊าซระยะยาวจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า
“ในส่วนของ บริษัท พีทีทีโกลบอลแอลเอ็นจี บริษัทในเครือที่จะทำหน้าที่ขายแอลเอ็นจีตามกลไกลตลาดเสรีนั้น ในขณะนี้ก็กำลังปรับปรุงข้อมูลตามที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สั่งการให้รายงานข้อมูล ซึ่งภาพรวมแล้วมีลูกค้าใหม่ และไม่ทับซ้อนกับสัญญาก๊าซเดิมไม่สร้างภาระเทคออร์เพย์ แน่นอน”นายวุฒิกร กล่าว
ทั้งนี้ ยอดขายก๊าซฯ บมจ. ปตท.ไตรมาส 1 /2564 อยู่ที่4,584 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนไตร 4 /2563 อยู่ที่ 4,244 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน
ส่วนกรณี ที่ บอร์ด ปตท. อนุมัติให้บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์โฮลดิ้ง หรือ SMH บริษัทย่อยของ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 70 จัดตั้งบริษัท ปิ่นทอง เนเชอรัลก๊าซ รีเทลล์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มของ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์คที่ถือหุ้นร้อยละ 30 ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 282 ล้านบาท นั้น นายวุฒิกร กล่าวว่า ก็เพื่อดำเนินธุรกิจค้าปลีกก๊าซธรรมชาติผ่านระบบท่อขนส่งและจำหน่ายก๊าซฯ รวมทั้งให้บริการ Energy Solution Provider ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 5 จังหวัดชลบุรี โดย ปตท.และพันธมิตร พร้อม ตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้านพลังงานทุกด้าน เช่น แนวทางการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเป็นต้น โดยขณะนี้ ลูกค้าในนิคมปิ่นทอง 4-5 ราย ความต้องการก๊าซไม่เกิน 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โครงการนี้ ก็เกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนและรองรับการลงทุนของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือEEC ให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ คาดว่าจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3/2564 และดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 3/2566
ส่วนความร่วมมือบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นเป็นศึกษาความเป็นไปได้ โครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงาน โดยในปัจจุบัน ปตท. พร้อมแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพและประสบการณ์ เพื่อขยายธุรกิจด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยเล็งเห็นว่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการและลูกค้าก๊าซธรรมชาติ เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว รวมถึงส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สอดรับกับนโยบายของประเทศที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้นไป -สำนักข่าวไทย