ทำเนียบฯ 15 มิ.ย.-ครม.ติดปีก ธนาคารออมสิน บริหารจัดการทรัพย์สิน เพิ่มความคล่องตัว รับซื้อสินทรัพย์ ซื้อขายลูกหนี้ การขายทอดตลาด ได้เหมือนกับแบงก์รัฐ
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน เพื่อให้มีอำนาจการบริการจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น และสอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบัน มีสาระสำคัญดังนี้
1.ยกเลิกหลักเกณฑ์การประกาศการประกอบกิจการหรือเลิกประกอบกิจการ ที่ต้องดำเนินการ ณ สำนักงานใหญ่ สาขา หรือตัวแทน เพราะปัจจุบัน ธนาคารออมสินได้ประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบถึงบริการของธนาคารในแต่ละสาขาทั้ง 1,057 สาขาอยู่แล้ว เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการที่ซ้ำซ้อน
2.กำหนดให้ธนาคารออมสิน มีอำนาจบริหารจัดการทรัพย์สินที่ตกเป็นของธนาคาร มาจากการชำระหนี้ การประกันสินเชื่อ ทรัพย์สินหลุดจำนอง หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยจำนองหรือประกันการชำระหนี้ไว้แก่ธนาคารจากการขายทอดตลาด ด้วยวิธีการขาย จำหน่าย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือวิธีอื่นที่ธนาคารพาณิชย์สามารถทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน จากเดิมอำนาจธนาคารออมสินบริหารจัดการสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันซึ่งตกเป็นของธนาคารเท่านั้น แต่ไม่สามารถรับโอนทรัพย์ชำระหนี้สำหรับทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นหลักประกันได้เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่น
3.กำหนดให้ธนาคารออมสิน สามารถขายหรือโอนลูกหนี้สินเชื่อ รวมทั้งบริหารจัดการทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคาร เพื่อให้ธนาคารมีเครื่องมือ บริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิม กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจธนาคารในการขายหรือโอนลูกหนี้สินเชื่อเช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งอื่น
4.กำหนดให้ธนาคารออมสิน ต้องขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารภายใน 5 ปี เว้นแต่รัฐมนตรีคลัง จะอนุญาตขยายระยะเวลากินกว่านั้น และกำหนดให้จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวด้วยวิธีการขายทอดตลาด หรือโดยวิธีอื่นตามที่คณะกรรมการธนาคารเห็นสมควร เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น จากเดิม กฎหมายไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคาร
5.บทเฉพาะกาล กำหนดให้ธนาคารออมสิน ต้องดำเนินการขออนุญาตขยายระยะเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารครบ 5 ปี ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ .-สำนักข่าวไทย