กรุงเทพฯ 2 พ.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงแผนลงทุนในงบประมาณประจำปี 2565 ยืนยันไม่ได้ทุ่มงบสร้างถนนอย่างเดียว แต่เปิดกว้างการลงทุนนอกงบประมาณกว่า 2.5 แสนล้านบาท พร้อมโชว์มาสเตอร์แผน MR-MAP สร้างระบบขนส่งคู่ขนาน เพิ่มทางเลือกการเดินทาง และยืนยันประมูลรถไฟทางคู่โปร่งใส
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2565 โดยระบุว่า กรณีที่มีการอภิปรายระบุถึงงบประมาณ ของกระทรวงคมนาคมว่า มีการลงทุนส่วนใหญ่ในโครงการก่อสร้างถนน นั้น กระทรวงฯ ขอชี้แจงถึงงบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปี 2565 มี 2 ส่วน 1.เป็นงบประมาณปกติ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท 2.เป็นเงินนอกงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรีว่า ถ้าจะใช้งบประมาณอย่างเดียว คงไม่สามารถขับเคลื่อนการลงทุนตามเป้าหมายได้
ดังนั้นการผลักดันโครงการ โดยจัดใช้เงินนอกงบประมาณจะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ โดยแบ่งออกเป็น การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) , เงินกู้กระทรวงคลัง และงบกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาทั้งหมด จะเห็นว่า 4 มิติระบบขนส่งของกระทรวงฯ ทั้งน้ำ ราง บก และอากาศ เงินงบประมาณที่ใช้ลงทุนมากสุด คือ ระบบราง 2.4 แสนล้านบาท เป็นงบผูกพันไปอีก 3-4 ปี ส่วนที่ 2 เป็นระบบทางบก 1.6 แสนล้านบาท ทางอากาศ 5.3 พันล้านบาท และน้ำ 829 ล้านบาท
ส่วนข้ออภิปราย ที่ระบุว่า การตั้งงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม มีหลายโครงการมีความซ้ำซ้อน เช่น กรุงเทพฯ – นครราชสีมา(โคราช) ซึ่งมีทั้งโครงการมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ขอชี้แจงว่า ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการหลายโครงการนั้น เช่น ถนนมิตรภาพมีจำนวนรถใช้ผิวถนน 7 หมื่นคันต่อวัน เทศกาลมีรถมากกว่า 1.1 แสนคันต่อวัน สิ่งที่เห็นคือถนนไม่พอกับรถ ทำให้เกิดการจราจรติดขัด นอกจากนั้นมีปัญหาอุบัติเหตุ เรื่องนี้เป็นความจำเป็นที่เราต้องก่อสร้างระบบประเภทอื่น เช่น มอเตอร์เวย์ เพื่อแยกการเดินทางของรถบรรทุกขนาดใหญ่ออกจากรถเล็ก ซึ่งก็จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุ และลงทุนในเส้นทางที่ผ่านจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นจังหวัดประตูสู่ภาคอีสานมีประชากรจำนวนมาก และยังเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กรุงเทพฯ – โคราช เป็นการสร้างเมืองการคมนาคมเชื่อมต่อในอนาคต โดยทั้งโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน – โคราช ,รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เมื่อก่อสร้างเสร็จก็จะสนับสนุนการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายในระบบขนส่งได้มาก
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้กระทรวงฯ พิจารณาการพัฒนาโครงการผ่าน 5 เรื่อง คือ 1.ตัดถนนแนวตรงเพื่อสัญจรสะดวก หลีกจากทางเดิม ไม่ผ่านเข้าชุมชน 2.ลดปัญหาเวนคืน 3.กระจายการพัฒนาพื้นที่ใหม่ 4.สร้างชุมชนใหม่ และ 5.แยกการจราจรในเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้กระทรวงฯ รับโจทย์มาปฏิบัติ จัดทำมาสเตอร์แพลน MR-MAP บูรณาการก่อสร้างระหว่างรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ ให้สร้างในแนวเดียวกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาใช้งบมอเตอร์เวย์ กรมทางหลวง (ทล.)
สำหรับมาสเตอร์แพลน MR – MAP ประกอบไปด้วย 3 เส้นทางสำคัญเชื่อมเหนือ – ใต้ คือ 1.เชียงราย – สงขลา เชื่อมเขตเศรษฐกิจเหนือใต้และเพื่อนบ้าน 2.หนองคาย – แหลมฉบัง เชื่อมอีอีซี และ 3.บึงกาฬ – สุรินทร์ เชื่อมกับฝั่งลาว ส่วนแนวเชื่อมตะวันออก -ตะวันตก มี 6 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางตาก – นครพนม 2.กาญจนบุรี – อุบลราชธานี 3.กาญจนบุรี – สระแก้ว 4.กาญจนบุรี – ตราด 5.ชุมพร – ระนอง และ 6.ภูเก็ต – สุราษฎร์ธานี
ขณะนี้โครงการนำร่องพิจารณาลำดับความสำคัญ โดยจะทำการศึกษาความเหมาะสมใน 3 เส้นทางก่อน คือ 1. เส้นทางชุมพร – ระนอง เพราะมีความสำคัญเชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ 2.เส้นทางอีอีซี.เชื่อมแลนด์บริดจ์ และ 3. เส้นทางจากอีอีซี.เชื่อม จ.นครราชสีมา เพื่อกระจายสินค้าจากพื้นที่อีอีซีเข้าภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งสินค้าลดต้นทุน อีกทั้งจะลดปัญหาการเวนคืนที่ดิน การแยกชุมชนหลายครั้ง รวมไปถึงลดการลงทุนของภาครัฐเหลือแต่เฉพาะค่าเวนคืนที่ดิน เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนลักษณะพีพีพีทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อลดภาระให้กับประเทศ
ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์จะเชื่อมโยงการค้าไทย เอเชีย และโลก อาจไม่แล้วเสร็จในช่วงของผม แต่เป็นการเตรียมงานให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อยกขีดความสามารถประเทศในอนาคต ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาที่ตั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน คาดว่าภายใน 1 ปีจะได้ผลการศึกษาเพื่อจัดมาร์เกตซาวดิ้ง
ส่วนประเด็นกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบโครงข่ายถนนได้ไม่ดีนั้น ต้องชี้แจงว่าปัจจุบันโครงข่ายถนน 7 แสนกิโลเมตร ทล.รับผิดชอบ 5.2 หมื่นกิโลเมตร ส่วน ทช. 4.8 หมื่นกิโลเมตร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แสนกิโลเมตร มีการแบ่งกันชัดเจน
ส่วนประเด็นที่ระบุว่า ทุกจังหวัดไม่ต้องมีสนามบิน ต้องชี้แจงว่าปัจจุบันไทยมีสนามบินของรัฐ 35 แห่ง 29 แห่งอยู่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เป็นสนามบินภายในประเทศ 6 แห่ง เป็นสนามบินระหว่างประเทศ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT โดยการบริหารทั้งหมดในปี 2565 กระทรวงฯ มุ่งเน้นการลงทุนพัฒนาภูมิภาค ให้บริการประชาชน เป็นงบลงทุนต่อเนื่องไม่ได้เป็นการก่อสร้างใหม่ เช่น สนามบินจังหวัด กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง บุรีรัมย์ และขอนแก่น
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึง กรณีการประมูลรถไฟทางคู่สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ที่มีการกล่าวถึงการประกวดราคาไม่โปร่งใส โดยระบุว่า เรื่องนี้เราใช้ระบบ ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยการรถไฟแห่งประเทศ (ร.ฟ.ท.) ได้ประกวดราคาเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท ยึดหลักตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ตามระบบ e-bidding มีความโปร่งใสมากที่สุด ซึ่งคนดำเนินการ คือ กรมบัญชีกลาง และ ร.ฟ.ท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการทีโออาร์ ทำตามระเบียบกรมบัญชีกลาง 2560 และมีการจัดตั้งคณะกรรมการคุณธรรม รวมทั้งจัดทำรับฟังความคิดเห็น พร้อมกำหนดเปิดกว้างผู้ประกอบการทั่วไปเข้าเสนอราคาและเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในลักษณะกิจการร่วมค้า แต่ต้องซื้อเอกสารทุกราย
ดังนั้นประเด็นที่การยื่นราคาน้อยกว่าราคากลาง มากหรือน้อยต้องบอกว่า โครงการนี้ ครม.ได้อนุมัติตั้งแต่ 31 พ.ค.2561 และเป็นการศึกษาตั้งแต่ 2555 ร.ฟ.ท.ได้ให้ที่ปรึกษาทำรายละเอียดราคากลางใหม่ ปรับปรุงให้สอดคล้องสภาพปัจจุบัน ใช้ฐาน เดือน ต.ค. 2563 หลังทำราคากลางต้นทุนปรับสูงขึ้น เช่น ราคาเหล็กปรับสูงขึ้น 30% ราคากลางเรายังยึดตามที่พิจารณาไว้ ซึ่งเรื่องนี้เมื่อมีข้อสงสัยกระทรวงฯ ก็ได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจต่อสาธารณชน นักวิชาการ สื่อมวลชนอย่างละเอียดแล้ว.-สำนักข่าวไทย