กรุงเทพฯ 12 พ.ค. -IRPC โชว์ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 กำไรสุทธิ 5,581 ล้านบาท รับความต้องการในตลาดโลกที่มากขึ้น ส่งผลบวกต่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 48,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับ ไตรมาส 4 ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 5,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,973 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน
สาเหตุสำคัญมาจาก ราคาขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 6,965 ล้านบาท (13.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมีส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 11,967 ล้านบาท หรือ 23.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 มีกำไรจากสตอกน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากราคาเฉลี่ย 44.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในไตรมาส 4 /63 มาอยู่ที่ 60.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในไตรมาส 1/64
แนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 2 ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากมีการกระจาย ของวัคซีนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น ทั้งยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องและคาดว่าประชากรมากกว่าร้อยละ 90 จะได้รับวัคซีนครบ 2 ครั้งภายในไตรมาส 2 แม้ตลาดยังคงมีความกังวลต่อการติดเชื้อโควิด – 19 ในประเทศอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนราคาน้ำมันดิบคาดว่า จะทรงตัว เนื่องจากกลุ่มโอเปกและพันธมิตร นำโดยประเทศซาอุดิอาระเบีย มีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการรักษาสมดุล ของตลาด โดยจะค่อยๆ ปรับเพิ่มปริมาณการผลิตในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามแนวโน้มของตลาดในอนาคต และอาจเข้าสู่สภาวะอุปทานตึงตัว (Tight Supply) ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 หลังจากที่ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด – 19 ที่เพิ่มขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว
แนวโน้มภาวะตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 2 คาดว่าปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการที่ตลาดหลักอย่างประเทศจีนมีการผลิตและการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่โรงงานต่างๆ ในประเทศจีนได้กลับมาผลิตสินค้าอีกครั้ง ส่งผลให้แนวโน้มตลาดในภูมิภาคอาเซียนกลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตใหม่ที่อาจเพิ่มขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด – 19 ทั่วโลกในปัจจุบันที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย เป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง แม้ว่าการแพร่ระบาดนั้นทำให้เกิดการปรับตัวเข้าสู่พฤติกรรมการบริโภคยุค New Normal ซึ่งเป็นผลดีต่อความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์ และกลุ่มสไตรีนิกส์ นอกจากนี้ การแพร่กระจายของวัคซีน รวมถึงนโยบายอัดฉีดเงินสนับสนุนทางเศรษฐกิจ และการออกมาตรการกระตุ้นและสนับสนุน ภาคการผลิตจากภาครัฐ เป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีด้วยเช่นกัน -สำนักข่าวไทย