กรุงเทพฯ 6 พ.ค.-รมว.คมนาคม สั่งการรถไฟฯ ปรับแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ ทั้งเฟส 2 และรถไฟสายใหม่ ให้สอดคล้องแผนแม่บท MR-MAP มากยิ่งขึ้น และลดเส้นทางผ่านชุมชนเมือง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (ประชุมครั้งที่ 2) โดยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดี กรมการขนส่งทางบก อธิบดีการขนส่งทางราง และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และผู้แทนกรมทางหลวง เข้าร่วม โดย รฟท.ได้รายงาน ความคืบหน้าการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 และ 2 การโดยพิจารณาความสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่าย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และระบบราง (Motorway Railway Master Plan) หรือ MR-MAP นอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการ ให้ รฟท. เร่งรัดการก่อสร้างในส่วนที่ล่าช้าให้เป็นไปตามแผนงาน รวมทั้ง การเร่งรัดโครงการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 นอกจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะรายงานสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้ว ให้จัดทำแผนการเร่งรัดการก่อสร้าง ที่แสดงกิจกรรมและกำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจนว่าจะสามารถเร่งรัดการก่อสร้างให้กลับมาเป็นไปตามแผนงานได้อย่างไร และประชาสัมพันธ์แผนงานการก่อสร้างในรายละเอียด ทั้งในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างและตามสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแผนการก่อสร้างแล้ว
สำหรับการนำแนวคิด MR-MAP ตามนโยบายมาปรับใช้ พบว่าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 และโครงการเส้นทางสายใหม่ ยังไม่สอดคล้องกับกรอบแนวคิดของ MR-MAP เท่าที่ควร ดังนั้น ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปพิจารณาปรับปรุงรูปแบบให้สอดคล้องกับแนวคิดของ MR-MAP ด้วย สำหรับส่วนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รายงานเหตุผลที่ชัดเจนด้วย ส่วนสถานะ รายงานเกี่ยวกับ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในแต่ละเส้นทาง ให้การรถไฟแห่ประเทศไทยจัดทำ สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และเส้นทางสายใหม่ ต้องมีแผนการดำเนินการในรายละเอียด ที่แสดงกิจกรรมและกำหนดระยะเวลา เพื่อจะได้ใช้ประกอบการกำกับดูแลในรายละเอียด ส่วนการปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟช่วงที่ผ่านตัวเมืองบางส่วนตามหลักการของ MR-MAP พบว่า ยังมีบางช่วงที่ยังผ่านชุมชนเมืองอยู่ ดังนั้น ให้ รฟท.พิจารณาออกแบบเส้นทางรถไฟให้ผ่านชุมชนเมืองให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนต่อไป
รวมทั้งการพิจารณาจุดตัดทางรถไฟกับทางหลวง ยังไม่มีรูปแบบมาตรฐานที่ชัดเจนว่าจะเป็นลักษณะของสะพานทางหลวงข้ามทางรถไฟ หรือสะพานรถไฟข้ามทางหลวง ดังนั้น ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ประสานงานกับกรมทางหลวงและกรมการขนส่งทางราง จัดทำตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเพื่อกำหนดรูปแบบมาตรฐานร่วมกัน รวมทั้งประสานกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟกับสถานีขนส่งสินค้าที่เชียงของและนครพนม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ,ประสานงานกับกรมการขนส่งทางบกและกรมการขนส่งทางราง เร่งรัดปรับแผนงานการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าที่นาทา เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดในการเชื่อมต่อ เส้นทางรถไฟจากจีน ลาว และไทย โดยในเบื้องต้นหากไม่สามารถพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ได้ทัน อาจพิจารณาการพัฒนาในลักษณะ ทำเป็นเฟส โดยใช้การเชื่อมต่อทางถนนในระยะแรกก่อน
สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้าง รถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย
- โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 โครงการ ประกอบด้วย
1.1 ช่วงฉะเชิงเทรา – แก่งคอย
1.2 ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น - สัญญาที่มีผลการก่อสร้าง เร็วกว่าแผนงาน จำนวน 4 สัญญา ประกอบด้วย
2.1 ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 51.83 เร็วกว่าแผนงาน ร้อยละ 20.29
2.2 ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 84.89 เร็วกว่าแผนงานร้อยละ 1.22
2.3 ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 2 มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 83.81 เร็วกว่าแผนงานร้อยละ 0.37
2.4 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 76.85 เร็วกว่าแผนงาน ร้อยละ 0.72 - สัญญาที่มีผลการก่อสร้าง ล่าช้ากว่าแผนงาน ประกอบด้วย
3.1 ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 65.59 ช้ากว่าแผนงาน ร้อยละ 1.90
3.2 ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 87.14 ช้ากว่าแผนงาน ร้อยละ 4.15
3.3 ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 73.15 ช้ากว่าแผนงาน ร้อยละ 11.33
3.4 ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 85.26 ช้ากว่าแผนงาน ร้อยละ 13.59
3.5 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 2 มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 69.03 ช้ากว่าแผนงาน ร้อยละ 2.04 .-สำนักข่าวไทย