กรุงเทพฯ 4 พ.ค.- ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 คาดเศรษฐกิจโลกฟื้นได้ในปี 64 ขณะที่ IMF มองจีดีพีโลกขยายตัวร้อยละ 6 หลังจากหลายประเทศเร่งฉีดวัคซีน แนะพึ่งพาเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้ทรัพยากรภายในประเทศ ปรับปรุงระบบภาษี
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ในรูปแบบการประชุมทางไกล หารือสถานการณ์เศรษฐกิจและความร่วมมือทางการเงินของกลุ่มอาเซียน+3 โดยมีผู้แทน ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่า 1. ทิศทางเศรษฐกิจของโลกและของภูมิภาคจะฟื้นตัวได้ในปี 2564 หลังจากการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 6 และในปี 2565 จะขยายตัวร้อยละ 4
ขณะที่ AMRO คาดการณ์ว่าภูมิภาคอาเซียน+3 ฟื้นตัวร้อยละ 6.7 และร้อยละ 4.9 ในปี 2564 และ ปี 2565 ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจไทย เติบโตร้อยละ 2.3 ในปี 2564 และร้อยละ 4.8 ในปี 2565 โดยทั้ง 3 องค์กรแนะนำให้ดำเนิน นโยบายในทิศทางเดียวกัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัญหาไวรัสโควิด-19 การสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงโดยเร็ว มุ่งเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การใช้ทรัพยากรภายในประเทศ ปรับปรุงระบบภาษีและความร่วมมือทางภาษี และส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นต้น
นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียน กล่าวเน้นให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 พัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) ให้ครอบคลุมเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในภูมิภาค ควบคู่กับความเชื่อมโยงของระบบการชำระเงินในอาเซียน เพื่อเปิดประตูสู่โลกใหม่ของการชำระเงิน ลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคต่อไป
- มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ทำให้ประเทศสมาชิกได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน โดยไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เพิ่มมากขึ้นจากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินได้รับความช่วยเหลือสูงสุด ประเทศสมาชิกยังใช้เงินสกุลท้องถิ่นสมทบเงินใน CMIM ได้ 3. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) เพื่อส่งเสริมตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่น การค้ำประกันเครดิตและการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน+3 การใช้ตราสารหนี้ระดมทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ทิศทางการดำเนินการในอนาคตของกรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ที่ประชุมได้รับทราบการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาความเป็นไปได้ของมาตรการริเริ่มใหม่ ๆ อาทิ การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากลไกเพื่อรองรับปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้าง การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ เพื่อขยายความร่วมมือทางการเงินให้ครอบคลุม และส่งเสริมความเจริญเติบโตของภูมิภาคอาเซียน+3 และสอดคล้องกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
นายอาคมฯ กล่าวในที่ประชุมว่า หลังจากกระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในเดือนสิงหาคม 2563 นับเป็นครั้งแรกของไทย จึงได้นำพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน จดทะเบียนใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก และได้ออกพันธบัตรแล้ว 1 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อสู้กับปัญหา COVID-19 กระทรวงการคลัง จึงเตรียมแผนออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพิ่มเติม ขณะนี้ไทยได้เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อลดความสูญเสีย ต่อชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจ ไทยจึงเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย