กรุงเทพ 15 ก.พ.-ราคาแอลพีจีตลาดโลกยังพุ่ง ท่ามกลางข้อกำหนดกฎหมายกองทุนน้ำมันฯมีเกณฑ์ราคาอุดหนุน ลุ้นกบง.จะตรึงราคาขายปลีกต่อหรือไม่สิ้นมีนาคมนี้ ส่วนอี 20 เจอโรคเลื่อนบังคับเป็นน้ำมันพื้นฐาน เหตุราคาเอทานอลสูง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงราคาก๊าซหุงต้มตลาดโลกที่ยังสูงขึ้นที่ราคาตะวันออกกลาง ( CP) แตะ 600 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ณะที่เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนกว่า 10,000 ล้านบาท ว่า กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์และยังคาดหวังว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมจะผ่านพ้นฤดูหนาวไปแล้ว ราคาแอลพีจีโลกจะลดลงและมีผลทำให้ราคาคำนวณในไทยลดลงด้วย และจะมีผลทำให้มีการขยับขึ้นราคาแอลพีจีในประเทศหลังสิ้นสุดการตรึงราคาในสิ้นเดือนมีนาคม 2564 หรือไม่นั้น ในเรื่องนี้ยังมีเวลาพิจารณาถึงความเหมาะสม
ส่วนมาตรการส่งเสริมอี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานในกลุ่มเบนซินนัั้น ปลัดกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า ปีนี้คงจะประกาศใช้ได้ยากต้องเลื่อนการประกาศใช้ไปก่อนไม่มีกำหนด เพราะราคาเอทานอลสูงมากล่าสุด เดือนกุมภาพันธ์ 2564ราคาประกาศ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)อยู่ที่ประมาณ 24.83 บาท/ลิตรนขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 12.84บาท/ลิตรเท่านั้น ส่งผลราคาอี 20 หน้าโรงกลั่นสูงถึง 14.71 บาท/ลิตร แต่ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการอยู่ในราคาต่ำเพราะมีการอุดหนุนด้วยภาษีและกองทุนน้ำมันฯ 2.28 บาท/ลิตร ซึ่งหากประกาศส่งเสริมอี 20 ปีนี้ ก็อาจจะเกิดปัญหาหลายด้านตามมาไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนที่สูงมากกระทบฐานะกองทุนน้ำมันฯ และยังไม่ชัดเจนว่าการจัดหาวัตถุดิบจะเพียงพอหรือไม่เพราะเป็นที่ทราบดีว่าราคาเอทานอลที่สูงมาจากปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณอ้อยลดลง
โดยเรื่องโครงสร้างราคาเอทานอลที่เหมาะสมก็อยู่ในระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการไปบ้างแล้ว เช่น บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(OR)ขณะเดียวกันบี 100 ขณะนี้ก็ราคาสูงเช่นกัน ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 42.83 บาท/ลิตร ขณะที่แผนงานตามกฏหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน้้นกำหนดว่าอีก 5 ปีข้างหน้ากองทุนฯจะไม่อุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริงหลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ใข้กลไกกองทุนน้ำมันดูแลต้นทุนเชื้อเพลิงชีวภาพมาเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 มีสินทรัพย์รวม 59,269 ล้านบาท หนี้สิน 33,749 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 25,520 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 35,589 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 10,069 ล้านบาท
โดยกระทรวงพลังงานต่ออายุมาตรการดูแลราคาขายปลีก ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ด้วยการคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัมหรือราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมออกไปอีก 3 เดือนหรือมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2564 จากที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน จากผลกระทบโควิด-19แ ละขยายกรอบวงเงินกองน้ำมันดูแลราคาแอลพีจีไม่เกิน 15,000 ล้านบาท
ด้านสนพ.รายงานมติ คณะกรรมการบริหารกนโยบายพลังงานหรือกบง.ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 รับทราบแนวทางบริหารราคาแอลพีจีและสถานการณ์กองทุนฯในภาพรวมหลังจากขยายระยะเวลาการคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีก 3 เดือน ( 1 มกราคมถึง 31 มีนาคม 2564) หลังจากนั้นให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG 3 ครั้ง โดยปรับขึ้นไตรมาสละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ โดยให้หารือกบง.อีกครั้งก่อนขยับราคา ซึ่งแนวทางขยับราคาเนื่องจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มีหนังสือถึง สนพ. ขอให้พิจารณาหาแนวทางการกำหนดนโยบาย ให้สอดคล้องกับแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจาก สกนช. มีความกังวลว่าการกำหนดนโยบายในการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ 18.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมต่อไป อาจมีผลกระทบ ต่อการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 หากข้อเท็จจริงมีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศสูงขึ้นไม่ถึง 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (โดยอยู่ในช่วง 318 ถึง 362 บาทต่อถัง15 กิโลกรัม) จะทำให้เกิดสภาวะ ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ตามหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันฯ ข้อ 2 สถานการณ์ที่ 1 ข้อ 2) ข “มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น อยู่ในระดับที่เกินกว่าราคาที่เหมาะสมสำหรับถัง 15 กิโลกรัม มากกว่า 363 บาท” และจะไม่สามารถ ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ได้-สำนักข่าวไทย