กรุงเทพฯ 2 ก.พ. – บีทีเอส แจงไม่เคยขู่จะหยุดเดินรถสายสีเขียว แค่ขอความชัดเจนหนี้ค่าเดินรถส่วนต่อขยายกว่า 8 พันล้านบาท ขณะที่ต้องจับตาพรุ่งนี้ ทีดีอาร์ไอ จับมือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชำแหละราคาโดยสารรถไฟฟ้าแพงจริงหรือไม่
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวถึงประเด็นมีรายงานข่าวระบุว่า บีทีเอสได้ทำหนังสือถึง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (มหาชน) แจ้งให้ชำระหนี้การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 8,899,338,642.45 บาท นั้น
โดยนายสุรพงษ์กล่าวว่า การแจ้งหนังสือดังกล่าวเป็นการขอความชัดเจน เรื่องแนวทางการชำระหนี้ของกรุงเทพธนาคม ภายใน 60 วัน และขอย้ำว่าบีทีเอส ไม่เคยพูดว่าจะมีการหยุดเดินรถในส่วนต่อขยายดังกล่าว หากยังไม่ได้รับชำระหนี้ ส่วนกรณีที่บอกว่าหากยังไม่รับการชำระหนี้จะมีการดำเนินการทางกฏหมายนั้น ในส่วนนี้บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่ยังไม่ระบุว่า จะมีการดำเนินการในลักษณะใด รวมทั้งการทวงถามภาระหนี้ จะเป็นในส่วนหนี้ของที่เกิดจากการจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินรถให้บริการในส่วนของสัมปทานเดิมแต่อย่างใด
ส่วนคำถามว่าความชัดเจนเรื่องดังกล่าวต้องรอมติ ครม. เกี่ยวข้องกับการปรับราคาค่าโดยสาร ตามประกาศฉบับใหม่ของกรุงเทพมหานคร และการขยายสัมปทานให้กับบีทีเอส 30 ปีตั้งแต่ปี 2572 ถึง 2602 หรือไม่นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หากมีมติครม. ในประเด็นดังกล่าวออกมา ปัญหาเรื่องภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถดังกล่าว ก็จะได้ข้อยุติไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับประเด็นปัญหาเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวและเส้นทางอื่นๆที่มีการโต้เถียงมาเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน ในวันพรุ่งนี้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนา “ค่าโดยสารรถไฟฟ้าหลากสี กับราคาที่ประชาชนต้องแบกรับ” ซึ่งต้องติดตามผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับต้นทุนการเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้าของประเทศไทย ในเส้นทางต่างๆ หลังจากก่อนหน้านี้ นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ออกมาระบุว่าขอให้ภาครัฐหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจมีการปรับวิธีการคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เป็นโครงข่ายทั้งระบบ ไม่ใช่มีการแยกพิจารณาตามข้อตกลงระหว่างหน่วยงานภาครัฐผู้ให้สัมปทานกับเอกชนผู้รับสัมปทาน แยกเป็นรายสัญญาเหมือนปัจจุบัน ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้รถไฟฟ้าแต่ละเส้นทาง มีการคำนวณค่าโดยสารต่างกัน และเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่ทำให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันมีราคาสูงกว่าประเทศ อื่นๆที่มีบริการรถไฟฟ้า เป็นระบบขนส่งสาธารณะให้บริการแก่ประชาชน . – สำนักข่าวไทย