กรุงเทพฯ 15 ม.ค. – นักวิชาการธรรมศาสตร์ เผยตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ปี 63 (ครอบคลุมทั้งอี-คอมเมิร์ซ ธุรกิจเรียกรถและสั่งอาหารออนไลน์ การท่องเที่ยวออนไลน์ และสื่อออนไลน์) มีมูลค่าสูงถึง 5.4 แสนล้านบาท คาดเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี ไปอีก 5 ปี ระบุโควิดดันตลาดอี-คอมเมิร์ซโตถึง 81% ชดเชยการชะลอตัวของธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ ขณะที่ธุรกิจเรียกรถ-สั่งอาหารผ่านแอปฯ มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท พร้อมก้าวกระโดดเป็น 2 แสนล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า แนะภาครัฐปรับตัวและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดธุรกิจแทนการออกกฎหมายฉุดรั้งเศรษฐกิจดิจิทัล
นายสุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล เปิดเผยถึงภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านราย โดยเพิ่มจาก 360 ล้านรายในปี 2562 (2019) เป็น 400 ล้านรายในปี 2563 (2020)
จากรายงานข้างต้นพบว่า ประชากรอาเซียนใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่คนไทยใช้เวลา มากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และขยับเป็น 4.6 ชั่วโมงในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ซึ่งค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน โดยผู้ใช้ 8 ใน 10 รายมองว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจําวันของผู้คน
ทั้งนี้ จากแนวโน้มที่คนอาเซียนและคนไทยใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยพบว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตมากถึง 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 ระบุว่าสามารถชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากธุรกิจท่องเที่ยวและการขนส่งที่หดตัวลงจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า มูลค่าสินค้า (Gross Merchandise Value: GMV) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 (2020) มียอดรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 (2025) เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 25% ต่อปี
นายสุทธิกร กล่าวด้วยว่า ในปี 2563 (2020) ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ และการสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท และเป็นที่คาดการณ์ว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลให้ทั้งสองธุรกิจสามารถเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2568 (2025)
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเติบโตถึงกว่า 42% อย่างไรก็ดี ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยติดลบถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากนโยบายล็อกดาวน์ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด การหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหลายสิบล้านคน.- สำนักข่าวไทย