กรุงเทพฯ 6 ม.ค.-อธิบดีกรมประมงเผย ผลผลิตกุ้งทั้งกุ้งทะเลและกุ้งก้ามกรามในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์คาดไม่ต่ำกว่า 41,000 ตัน สั่งการประมงจังหวัดทั่วประเทศ เปิดตลาดขาย “กุ้ง” ช่วยเหลือเกษตรกรจากภาวะราคาตกต่ำ
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในจังหวัดสมุทรสาครซึ่งขยายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งของของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำปกติปริมาณผลผลิตจากฟาร์มเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลมาจากพื้นที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลทั่วประเทศจะส่งไปจำหน่ายที่ตลาดที่มหาชัย คิดเป็นร้อยละ 20 ของผลผลิตทั้งหมด
จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลและกุ้งก้ามกรามเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 จะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดอีกราว 41,000 ตัน แบ่งเป็น กุ้งทะเล 33,000 ตัน กุ้งก้ามกราม 8,000 ตัน ที่เหลือีกร้อยละ 80 เข้าสู่โรงงานแปรรูป ดังนั้นกรมประมงต้องเร่งดำเนินการมาตรการเร่งด่วนเพื่อระบายสินค้ากุ้งทะเลและกุ้งก้ามกรามออกสู่ตลาดและช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาที่ลดต่ำลง
ขณะนี้มอบหมายให้ประมงจังหวัดทั่วประเทศนำผลผลิตสัตว์น้ำมาจัดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง โดยนำร่องจำหน่ายกุ้งก้ามกรามในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา ซี่งมีประชาชนให้ความสนใจมาเลือกซื้อกุ้งเป็นจำนวนมาก โดยที่จังหวัดสุพรรณบุรีเปิดจำหน่ายทุกวันที่ปั๊มน้ำมันปตท. หลักเมือง ปตท. ศรีประจันต์ ปั๊มน้ำมันบางจากถาวร สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังสามารถสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ทาง Fisheries Shop ของกรมประมง และ www.ohlalashopping.com
นายมีศักดิ์กล่าวต่อว่า ล่าสุดขอความร่วมมือห้องเย็นโรงงานแปรรูปในการรับซื้อกุ้งทะเล ร่วมมือกับกรมการค้าภายในนำสินค้าคุณภาพมาตรฐาน GAP มาจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ต่างๆ ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากตลาดไทเตรียมเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำกุ้งมาจำหน่ายโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
สำหรับสถานการณ์ความตื่นตระหนกต่อการบริโภคกุ้งคลี่คลายแล้ว ผู้บริโภครับรู้ทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้องว่า กุ้งและสินค้าสัตว์น้ำไม่ได้เป็นพาหะของโรคโควิด-19 อย่างแน่นอน แต่การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ จึงขอให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน เน้นให้ความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยเป็นสำคัญ โดยไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก และล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค-สำนักข่าวไทย