กรุงเทพฯ 18 ธ.ค. – บอร์ด ปตท.เห็นชอบงบลงทุน 5 ปี (2564-2568) รวม 179,072 ล้านบาท ตั้งงบลงทุนในอนาคต(Provisional Capital Expenditure) อีก 331,524 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโต พร้อมตั้งรับปี 64 กับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ 3 ไม่
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวในงาน “Restart Thailand 2021” ว่า เศรษฐกิจในปี 64 การฟื้นตัวจะยังจำกัดอยู่ด้วย 3 “ไม่” คือ ไม่เร็ว หรือดีเท่ากับปี 62, ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ฟื้นตัวไม่เท่ากัน เช่น ธุรกิจการบิน และเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ถึงแม้จะมีการผลิตวัคซีนโควิด-19
อย่างไรก็ตามกลุ่มปตท. ก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 64 โดยทั้งกลุ่ม ปตท.เตรียมงบลงทุนในปี 64 ไว้ราว 2.44 แสนล้านบาท เพื่อผลักดันโครงการที่เคยชะลอให้กลับมาดำเนินการ รวมถึงเดินหน้าโครงการที่ทำอยู่ให้แล้วเสร็จ และ ลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ได้แก่ โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมัน ของบมจ.ไทยออยล์ (TOP) , โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 7 , โครงการคลังสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) แห่งที่ 2 ,โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติงบการลงทุน 5 ปี(2564-2568) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ100 วงเงินรวม 179,072 ล้านบาท โดยจัดสรรการลงทุนในปี 2564 อยู่ที่ 76,399 ล้านบาท , ปี2565 งบลงทุน49,314 ล้านบาท , ปี2566 ลงทุน 21,514 ล้านบาท ,ปี2567 ลงทุน 18,551 ล้านบาทและปี2568 ลงทุน 13,284 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปตท. ยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Businesses) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ทั้งใน ส่วนที่ ปตท. ดำเนินงานเองทั้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 คิดเป็นสัดส่วน 24% ของงบลงทุนรวม 5 ปี
ส่วนการลงทุนผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 คิดเป็นสัดส่วน70%ของการลงทุนของงบการลงทุน 5 ปี ซึ่งประกอบด้วยการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติประมาณร้อยละ 14 ของงบการลงทุน 5 ปีอาทิ การขยายขีดความสามารถของสถานีรับจ่าย ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 การลงทุนในธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกรวมถึงธุรกิจใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42 %ของงบการลงทุน 5 ปีและธุรกิจอื่นๆ ประมาณ 14 %ของงบการลงทุน 5 ปี
นอกจากนี้ ปตท.ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต(Provisional Capital Expenditure)ในระยะ 5ปีข้างหน้า อีกจำนวน 331,524 ล้านบาท เพื่อการเติบโต และเสริมสร้างความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. จากความเชี่ยวชาญของธุรกิจ เดิม อาทิเช่น โครงการ Southern LNG Terminal และท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตามแผนพัฒนากำลัง การผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) การขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ และการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Gas-to-Power) ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจ ที่มีศักยภาพการเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของวิถีชีวิตแบบใหม่และนิเวศทางเศรษฐกิจใหม่(New Ecosystem Business Model) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและทิศทางของโลก อาทิ ห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) รวมถึงการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Life science (ธุรกิจยา ธุรกิจ Nutrition ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์)
นอกจากนี้ ยังมีงบการลงทุนในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเพื่อให้กลุ่ม ปตท.บรรลุเป้าหมาย กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ตามแผนยุทธศาสตร์ในการเป็นผู้นำด้าน พลังงานหมุนเวียน . – สำนักข่าวไทย