กรุงเทพฯ 14 ธ.ค. – “รมช.ประภัตร” คิกออฟเปิดแปลงนาอัจฉริยะ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน หนุนถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร เผยปลูกข้าว 1 ไร่ ทุนไม่เกิน 3,000 บาท
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิด “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีแปลงนาอัจฉริยะ” ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2564 ณ แปลงเรียนรู้ ต.นางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การทำนาโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงานภาคการเกษตร การเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และเกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับการบูรณาการกับทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร
นายประภัตร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการผลิตทางการเกษตรมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัย สามารถนำมาใช้ในไร่นาได้ผลดีและจะส่งผลให้การผลิตในภาพรวมของประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมกันพัฒนา โดยกรมการข้าว ได้มอบหมายให้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติศึกษาทดลอง ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าว โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ พัฒนาเมล็ดพันธุ์ จนได้ชุดเทคโนโลยีที่เหมาะสมและพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวไปสู่เกษตรกร ได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกร จัดทำแปลงเรียนรู้ด้านข้าว พื้นที่แปลงนากว่า 138 ไร่ ซึ่งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ จากการศึกษาและการทดลองเทคโนโลยีแปลงนาอัจฉริยะ พบว่า ต้นทุนในการปลูกข้าว ไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ และหวังอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรทั่วประเทศ
ทั้งนี้ แนวทางเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะชุดนี้ มี 6 ประเด็นสำคัญ ตั้งแต่การเตรียมดิน ดยใช้เครื่องปรับดินเลเซอร์ (Laser land levelling) เพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ปรับระดับผิวดินให้เรียบ สม่ำเสมอ การจัดระบบน้ำโดยใช้ท่อวัดน้ำอัจฉริยะ แสดงผลปริมาณระดับน้ำทุกชั่วโมงผ่าน Line Application บนมือถือของเกษตรกร ใช้ Solar Cell เป็นแหล่งให้พลังงาน เมื่อน้ำต่ำกว่าระดับผิวดิน จึงจะปล่อยน้ำเข้าแปลงนา สามารถลดปริมาณการให้น้ำได้ร้อยละ 46 การติดตามสภาพแวดล้อม สถานีตรวจวัดอากาศเช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ต่างๆ แบบ real time เข้าระบบ IOT การจัดการปุ๋ย ด้วยเครื่องวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในใบพืช (Crop Space) เพื่อเป็นการให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการของข้าว และการอารักขาพืช โดยการใช้โดรนติดกล้องถ่ายภาพบินตรวจการทำลายของโรค และแมลง รวมทั้งข้าวปนและวัชพืชในข้าว และ 6. มีระบบช่วยตัดสินใจด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (IOT Platform) ซึ่งสามารถส่งข้อมูลไปยังมือถือเกษตรกร ได้ตลอดเวลา ครอบคลุมรัศมี 2 กิโลเมตร หรือประมาณ 10,000 ไร่ . – สำนักข่าวไทย