กรุงเทพฯ 18 พ.ย. – ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ต.ค.63 ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 33.2 แต่ดัชนีการท่องเที่ยวและการเกษตรยังติดลบ แต่มีแนวโน้มดีขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือน ต.ค.63 ดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 33.2 จากที่เดือน ก.ย.63 อยู่ที่ระดับ 32.5 โดยดัชนีต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นการท่องเที่ยวและภาคเกษตรที่ยังคงติดลบ 0.4% และลบ 0.3% ตามลำดับ เนื่องจากการท่องเที่ยวยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวรวมถึงยังคงมีสถานการณ์แพร่ระบาดในแหล่งท่องเที่ยวในประเทศที่ปรากฏเป็นข่าวทำให้ประชาชนยังไม่กล้าจะออกไปท่องเที่ยวเต็มที่ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศยังมีการแพร่ระบาดอยู่ แต่ไตรมาส 4 มีแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดในปัจจุบันและคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า ประจำเดือน ต.ค.63 มีแนวโน้มดีขึ้นทุกภาค แม้จะติดลบในขณะนี้แต่มีสัญญาณดีขึ้นในอนาคตเช่นกัน
สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลในขณะนี้ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงมีการระบาดทั่วโลก และในไทยที่อาจจะมีการระบาดรอบ 2 การชุมนุมทางการเมืองที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว จึงต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการผลักดันให้ภาคเอกชนจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อกระจายรายได้โดยได้สิทธิประโยชน์ได้ภาษี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.จัดการอบรมสัมมนาในต่างจังหวัดให้มากขึ้น เป็นต้น
อีกปัจจัยที่ภาคเอกชนกังวลคือ ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงกว่าร้อยละ 83 ของจีดีพี ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน นอกจากนี้ ปัญหาเงินบาทแข็งค่ากระทบการส่งออก ซึ่งเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 63 มาถึงปัจจุบันแข็งค่า 1.8% ปัจจุบันอยู่ในระดับ 31.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินด่องของเวียดนามแข็งค่าขึ้นเพียง 0.1% ถึง 0.2% เงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่าขึ้น 0.4% เงินหยวนของจีนก็อ่อนค่าลง 5.8% ดังนั้นจึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดูแลให้เงินบาทอยู่ในระดับเดิมที่ประมาณ 31.5 – 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ น่าจะเป็นประโยชน์ในการส่งออกของไทย
แนวทางแก้ไขปัญหาที่ต้องการเห็นได้แก่ มาตรการช่วยเหลือธุรกิจส่งออกโดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน พร้อมลงทุนในสิ่งใหม่ ๆ ให้มีความต่อเนื่อง, รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ ผลักดันการส่งออกไปตลาดอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาดจีนเพราะมีขนาดใหญ่และเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวหลังจากโควิด-19, มาตรการกระตุ้นกำลังการซื้อของประชาชนในประเทศให้เข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากหยุดนิ่งไปจากสถานการณ์โควิด-19, และจัดสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือให้กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น มีการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สาธารณสุขให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น . – สำนักข่าวไทย