กรุงเทพฯ 18 พ.ย. – ธ.ก.ส.แจงกรณีการโอนเงินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 63/64 งวดแรก เมื่อ 16 พ.ย. ไม่ครบหรือเกินกว่าจำนวนจริง จากข้อผิดพลาดของการสลับชนิดข้าว ทำให้การคำนวณคลาดเคลื่อน พร้อมเร่งโอนเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนวันนี้ (18 พ.ย.) และชี้แจงทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อดึงเงินส่วนที่เกินคืนต่อไป
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธ.ก.ส.ได้มีการโอนเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/2564 รอบที่ 1 งวดที่ 1 โดยใช้ข้อมูลเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ซึ่งมีวันเก็บเกี่ยวรอบที่ 1 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 เข้าบัญชีเงินฝากเกษตรกรโดยตรง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 จํานวน 786,380 ราย จํานวนเงิน 8,387.06 ล้านบาทนั้น
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ธนาคารตรวจพบข้อผิดพลาดในการคำนวณเงินชดเชยสลับชนิดข้าว คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเจ้า ซึ่งได้รับชดเชยส่วนต่าง ตันละ 1,222.36 บาท กับข้าวหอมปทุมธานีที่ได้รับการชดเชยส่วนต่างตันละ 1,066.96 บาท ทำให้มีเกษตรกร 409,917 ราย ซึ่งปลูกข้าวเจ้าและข้าวหอมปทุมธานีไม่ได้รับเงินตามจำนวนที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ได้เร่งแก้ไขโดยการโอนเงินเพิ่มเติมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเจ้าครบตามจำนวนภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และมอบหมายให้สาขาในพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจแก่เกษตรกรในกรณีที่ต้องดึงเงินส่วนที่เกินคืนจากบัญชีเงินฝากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปทุมธานี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินได้ผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าออกบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่เกษตรกรลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect.-สำนักข่าวไทย