กรุงเทพฯ 26 ต.ค. – จับตา รฟม.อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองปัญหาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สัปดาห์นี้ ก่อนเดือนหน้าประชุมคณะกรรมการ ม.36 สัปดาห์ถัดไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับความคืบหน้าปัญหาการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายหลังสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีระหว่าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้อง โดยศาลมีคำสั่งให้ รฟม.ทุเลาการปรับหลักเกณฑ์การประเมินที่แก้ไขเพิ่มเติมไปนั้น
รายงานข่าวจาก รฟม.ระบุว่าภายในสัปดาห์นี้ รฟม.จะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ศาลวินิจฉัยประเด็นการปรับหลักเกณฑ์การประเมินฯ ของ รฟม. หลังจากนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 36 ตามที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เคยระบุว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการ ม.36 ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 หรือก่อนวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะเป็นวันที่ รฟม.เปิดยื่นรับซองจากเอกชน
ส่วนประเด็นที่จะมีการอุทธรณ์นั้น รฟม.เตรียมชี้แจงให้ศาลปกครองสูงสุดเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับหลักเกณฑ์ฯ ว่า จะเป็นแนวทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อโครงการ ทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จากโครงการฯ ทั้งในแง่ของคุณสมบัติผู้ประมูลงานที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกับคุณภาพของงานด้านเทคนิค และผลตอบแทนที่เอกชนผู้ชนะการประมูลจะให้แก่รัฐสูงสุด ซึ่งจะเป็นเกณฑ์ชี้วัดว่าเอกชนรายใดจะเป็นผู้ชนะการประมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ผ่านมา รฟม.ได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือก จากเกณฑ์เดิมจะเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล เปลี่ยนมาเป็นการนำข้อเสนอด้านเทคนิคมารวมกับข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ 70 คะแนน เอกชนรายใดได้คะแนนรวมมากกว่าก็จะชนะการประมูล
ซึ่งกลุ่มบีทีเอสเห็นว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว ทำให้เกิดข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ และเป็นการประกาศปรับหลักเกณฑ์หลังจากมีการประกาศขายซองไปแล้ว จนเป็นที่มาในการฟ้องร้องคดีขึ้นสู่ศาลปกครองในช่วงที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย