บทความพิเศษ (5).. โดย ไพรินทร์ ชูโชติถาวร
การระบาดของโรคโควิด-19 ที่นับวันจะขยายวงมากยิ่งขึ้นขณะนี้ ได้สร้างความทุกข์ยาก ให้กับประชากรเจ็ดพันกว่าล้านคนในโลกใบนี้เป็นอย่างมาก อุบัติการณ์นี้ถือเป็นวิบากกรรมของมุนษย์ยุคใหม่โดยแท้…
เราจึงสมควรจะมาพิจารณาถึงต้นเหตุแห่ง ‘ทุกข์’ กันสักครั้ง…
ถ้าจะชี้ว่า ‘ต้นเหตุ’ หรือ ‘จำเลย’ ของทุกข์ในครั้งนี้ คือ โคโรนาไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ก็คงไม่ผิด แต่เรารู้หรือไม่ว่าเชื้อไวรัส คืออะไร ? ทำไมถึงมีไวรัสเกิดขึ้นมาในโลกนี้ ?….
ไวรัสที่เราพูดถึงกันนี้ ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ถกเถียงและไม่มีข้อยุติกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่า ตกลงแล้ว มันมีชีวิต หรือมันเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ !
ตามปกตินิยามของสิ่งที่มีชีวิตก็คือ ต้องกินอาหาร เจริญเติบโต และสืบพันธุ์เองได้ เช่น พืชหรือสัตว์ที่เห็นกันอยู่ทั่วไป แต่สิ่งที่เรียกว่าไวรัสนี้เป็นกลุ่มก้อนของสารพันธุกรรมที่ไม่สามารถกินอาหาร เจริญเติบโต หรือสืบพันธุ์ได้เอง นอกจากจะมีเจ้าบ้าน หรือเซลของสิ่งมีชีวิตอื่น (Host) มาให้เป็นที่พักอาศัย จึงจะอยู่รอดและขยายตัวได้ (ลองคิดเทียบกับโปรแกรมไวรัสคอมพิวเตอร์ก็จะเข้าใจง่ายขึ้น) นอกจากนี้ เรายังรู้อีกว่าเมื่อไวรัสได้มาพึงพิงอาศัยในเซลที่มีชีวิตเพื่อการขยายพันธุ์แล้ว มันยังสามารถที่จะกลายพันธุ์ (Mutate) ต่อไปได้อีกเพื่อหลบเลี่ยงหรือเอาชนะระบบภูมิคุ้มกันของสิ่งมีชีวิตที่ไปพึ่งพิงด้วย เรียกว่าไวรัสก็มีความสามารถในการวิวัฒนาการ (Evolution) ได้เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิต นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่ออีกว่า ไวรัสเกิดขึ้นมาในโลกนานแล้ว อาจจะนานพอ ๆ กับการเกิดของสิ่งมีชีวิตในโลกอีกด้วย…
คำถามต่อไปก็คือ แล้วธรรมชาติสร้างไวรัสขึ้นมาทำไม ?
สิ่งมีชีวิตโดยทั่วไป ทั้งพืชและสัตว์ ธรรมชาติจะสร้างระบบป้องกันตัวเองมาให้ด้วย เรียกว่าระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) เพื่อที่สิ่งมีชีวิตในระดับเซลจะได้ใช้ในการต่อสู้กับเชื้อโรคผู้รุกรานจากภายนอก เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ฯลฯ หน้าที่หลักสามประการของระบบภูมิคุ้มกันก็คือ ค้นหา ทำลาย และจดจำผู้รุกราน (Identify, destroy and memorise) เพื่อรักษาเซลให้อยู่รอดและสามารถวิวัฒนาการได้ต่อไปเรื่อย ๆ…
ปัจจุบันจึงมีความเชื่อว่าไวรัสอาจจะถูกสร้างขึ้นมาโดยธรรมชาติเพื่อให้เป็นสิ่งเร้าจากภายนอก คอยรุกรานสิ่มมีชีวิตต่าง ๆ คล้ายกับเชื้อโรคชนิดอื่น ๆ เพื่อให้เซลของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ ต้องมีวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด ตามกฎของการคัดเลือกพันธุ์ (Rule of the fittest survive) ในทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน โดยระบบระบบภูมิคุ้มกัน จะต้องพยายามพัฒนาให้เร็วกว่าการรุกรานและการกลายพันธุ์ของไวรัสให้ได้ มิฉะนั้นสิ่งมีชีวิตนั้นก็จะต้องสูญสิ้นไป… แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีฝ่ายใดเพี่ยงพล้ำเลยตลอดเวลาหลายล้านปีของวิวัฒนาการของมนุษย์…
ดังนั้น จึงอาจจะพูดได้ว่าไวรัสกับสิ่งมีชีวิต จึงเป็นของคู่กันคล้ายกับ ‘ผีกับโลง’ ทั้งคู่จะขาดกันไม่ได้ ถ้าฝ่ายใดชนะ ผู้ชนะก็จะกลายเป็นผู้แพ้ไปด้วย ดังนั้น เมื่อต้องอยู่ด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้ การเรียนรู้เข้าใจซึ่งกันและกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง…
…ธรรมชาติ ช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก.
บทความพิเศษ โดย “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธาน คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบศ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน …