กรุงเทพฯ 5 ต.ค. – ส.อ.ท.ช่วยเอสเอ็มอี มีสภาพคล่องช่วงโควิด-19 ได้รับชำระค่าสินค้าภายใน 30 วัน นำร่องกว่า 100 บริษัท ระยะเวลา 3 เดือน เริ่ม 1 ต.ค.-31 ธ.ค.นี้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีได้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ทาง ส.อ.ท.จึงออกมาตรการเร่งอัดฉีดสภาพคล่องให้ “SMEs ด้วย F.T.I.Faster Payment : ส.อ.ท.ช่วยเศรษฐกิจไทย นำร่องจากบริษัทภายใต้การบริหารงานของกรรมการบริหาร ส.อ.ท.ชุดวาระปี 2563-2565 ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 100 บริษัท มียอดขายกว่า 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของจีดีพีประเทศ ยินดีเข้าร่วมโครงการ ด้วยการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าภายใน 30 วัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ส่วนจะขยายระยะเวลามาตรการออกไปอีกหรือไม่นั้น จะขอดูมาตรการรัฐที่ออกมาช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจฟื้นดีหรือไม่ และบริษัทเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไรบ้าง ติดขัดอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จะพิจารณาขยายมาตรการต่อออกไปได้อีก
ทั้งนี้ ประเมินว่าเอสเอ็มอีได้รับประโยชน์รวมประมาณ 100,000 ล้านบาท ผู้ที่เกี่ยวข้องวงการเอสเอ็มอีรวมกว่า 10 ล้านคน ซึ่งอยากฝากภาคบริการและภาครัฐจ่ายเงินภายใน 30 วันจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ปกติภาครัฐกว่าจะจ่ายปกติไม่ต่ำกว่า 90 วัน ซึ่งน่าจะมีบทลงโทษกับหน่วยงานภาครัฐภาครัฐที่ไม่จ่ายตามระยะเวลาด้วยภายใต้เงื่อนไขว่าหากได้มีการทำข้อตกลง แต่ปกติแล้วภาครัฐจะจ่ายค่าสินค้ามีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 90 วัน ซึ่งเห็นว่าภาครัฐไม่ควรเอาภาษีของประชาชนไปดองไว้
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า จากการสำรวจวิจัยของ ส.อ.ท.พบว่าระยะเวลาเครดิตเทอมปี 2559 มีระยะเวลาจ่ายเงินชำระค่าสินค้าในช่วง 30-45 วัน แต่ปีนี้พบว่าระยะเวลาเครดิตเทอมเพิ่มขึ้นกว่าจะจ่ายเงินระยะเวลาเพิ่มเป็น 60-120 วัน ซึ่งในการทำธุรกิจการค้านั้น ปกติแล้วร้อยละ 96 ซื้อขายสินค้ากันด้วยสินเชื่อจากซัพพลายเออร์ การลดระยะเวลา เครดิตเทอมที่สัั้นลง จะช่วยให้เอสเอ็มอี มีสภาพคล่องและอยู่รอดได้ในช่วงโควิด-19.-สำนักข่าวไทย