กรุงเทพฯ 28 ก.ย. – กรมบัญชีกลางซ้อมความเข้าใจแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง กรณีใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไปพลางก่อน
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และตามที่สำนักงบประมาณกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปพลางก่อน และวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย และการหักงบประมาณรายจ่าย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปพลางก่อน และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายเงินเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2564
คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบฯ ข้อ 11 และเมื่อคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รายหน่วยงานของรัฐ และมีมติเป็นที่สิ้นสุดแล้วก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระ 2 ให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐนั้น ได้รับทราบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบฯ
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า สำนักงบประมาณได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน และวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย และการหักงบประมาณรายจ่าย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันไตรมาส 1 ของปืงบประมาณ พ.ศ. 2564 วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2563 โดยจำแนกเป็นรายเดือนส่งให้สำนักงบประมาณอย่างช้าภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 ดังนั้น เมื่อหน่วยงานของรัฐเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบฯ ข้อ 11 และดำเนินการตามที่สำนักงบประมาณแจ้งหลักเกณฑ์แล้ว เมื่อสำนักงบประมาณอนุมัติเงินจัดสรรให้แก่หน่วยรับงบประมาณตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปืงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปพลางก่อน หน่วยงานของรัฐย่อมสามารถก่อหนี้ผูกพันภายในวงเงินที่รับทราบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง.-สำนักข่าวไทย