กรุงเทพ ฯ 24 ก.ย. – รองนายกรัฐมนตรี ย้ำมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินรัฐที่ผ่านมาเข้าเป้า พร้อมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง มองเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 2 ปี ในการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด โดยจะฟื้นแบบเครื่องหมายไนกี้ แย้มนายกเตรียมตั้ง รมว.คลัง ตุลาคมนี้ ด้านอธิบดีกรมสรรพากร ชี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เหมือนเครื่องบินที่โหม่งลงทะเล พร้อมชี้ความท้าทายหลังวิกฤติโควิด-19 คือ เศรษฐกิจไทยจะโตลดลง สังคมผู้สูงอายุ การค้าโลกการเปลี่ยนโฉม ด้านบรรยง พงษ์พานิช มองรัฐบาลยังกู้เงินเพิ่มได้อีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องมีแผนใช้หนี้ที่ชัดเจน แนะไม่จำเป็นต้องอุ้มทุกรัฐวิสาหกิจ
ในงานสัมมนา “Bettle Strategy แผนฝ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในหัวข้อ “นโยบายรัฐ ชี้ชะตาชีวิตหลังโควิด” ว่า เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 2 ปี ในการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด ซึ่งเร็วกว่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้งที่ใช้เวลา 5 ปี โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเป็นรูปเครื่องหมายไนกี้หางยาว พร้อมย้ำว่า เม็ดเงินเกือบ 900,000 ล้านบาทที่รัฐบาลใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟู ถือว่าเป็นการยิงเข้าเป้า แต่ยังหยุดไม่ได้ เพราะยังมีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ ที่จะทำให้มีการว่างงานแน่นอน ซึ่งวันที่ 26-28 ก.ย. รัฐบาลจะจัดงานตลาดแรงงาน ที่มีตำแหน่งงานรองรับกว่า 1 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น มาตรการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง วงเงินรวมกว่า 51,000 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือน คือ ต.ค- ธ.ค. 63 หากประชาชนร่วมมือกัน จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2564 รัฐบาลยังเตรียมปรับเงื่อนไขสเปเซียลวีซ่าเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ หรือกลุ่มที่มีรายจ่ายต่อหัวสูง เข้ามาในไทย โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนไทยในการออกแบบมาตรการต่อไป
ส่วนสถานการณ์การเมืองขณะนี้ โดยเฉพาะการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ ถือเป็นเรื่องปกติซึ่งในต่างประเทศก็มี และเป็นเรื่องที่เราต้องรับฟังและต้องยอมรับว่าในอนาคตพวกเขาจะเติบโตมาแทนพวกเรา ดังนั้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่านายกรัฐมนตรีมีคนในใจแล้วและจะได้รู้ในเดือนตุลาคมนี้
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในหัวข้อ “ความท้าทายเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก หลังยุควิกฤตโควิด-19”ว่า ระบบเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนมากขึ้น เพราะพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศสูง ทำให้ช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยเป็นเหมือนเครื่องบินที่โหม่งลงทะเล เพราะเครื่องยนต์ใหญ่ 2 ตัวของไทย ทั้งการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน ติดลบหมด ขณะที่ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกใน 10 ข้างหน้า คือ บทบาทเอเชียจะเพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจโลก แต่มีการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น แต่ก็ซับซ้อนมากขึ้น เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าและการลงทุน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเซนครั้งใหญ่ จากการดึงนักลงทุนกลับประเทศ และ Digitatization ขณะที่โฉมหน้าเศรษฐกิจไทยใน 10 ข้างหน้า คือ เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยชะลอตัวลง การเข้าสู่เศรษฐกิจผู้สูงอายุ และเศรษฐกิจชุมชนเมืองมากขึ้น

ขณะที่นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวหัวข้อ “หนทางสู่ความอยู่รอดในยุคมหาวิกฤติ” ว่า มาตรการรัฐควรมีกรอบ 5 อย่าง คือ ใหญ่พอ ทันเวลา ตรงเป้า โปร่งใส และ ต้องเป็นมาตรการชั่วคราว ซึ่งที่ทำไปแล้วยังไม่ตอบโจทย์ครบทั้ง 5 เงื่อนไข โดยงบ 2 ล้านล้านบาท แม้มีขนาดใหญ่จริง แต่ใช้ไม่ถึงล้านล้านบาท เพราะติดอุปสรรคในเรื่องกลุ่มเป้าหมายเพราะฐานข้อมูลไม่ดีพอ ทำให้การใช้มาตรการช้าเกินไป และยังส่งผลกระทบไปถึงการตัดสินใจของนักลงทุนที่ยังรอความชัดเจนและผลของการใช้มาตรการ นอกจากนี้เรื่องการเมืองในประเทศก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน
พร้อมมองรัฐบาลยังต้องช่วยผู้ประกอบการเพราะมาตรการที่ใส่ไปยังไม่เห็นผล ขณะที่มาตรการจาก ธปท. ก็ยากต่อการเข้าถึง โดยมองว่ารัฐบาลยังสามารถกู้เงินเพิ่มได้ แม้สัดส่วนหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ต่อจีดีพี หากรัฐบาลมีการกำหนดแผนการใช้หนี้ที่ชัดเจน พร้อมแนะรัฐบาลควรขึ้นภาษีทรัพย์สิน ซึ่งยังสามารถทำได้และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งควรพิจารณาขายรัฐวิสาหกิจออกไปบ้าง ไม่จำเป็นต้องอุ้มทั้งหมด ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปแล้วจะสามารถพัฒนาองค์กรให้ใหญ่ขึ้นได้ และคำถามเรื่องของประสิทธิภาพและความโปร่งใสหรือไม่ก็จะหายไป.-สำนักข่าวไทย