กรุงเทพฯ 1 ก.ย. – โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ย้ำ “ความตระหนักรู้ของผู้นำ” และ “ความร่วมมือ” เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เดินหน้าร่วมฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ท่ามกลางโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโอกาสครบรอบ 20 ปี โกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UNGC) และครบรอบ 75 ปี สหประชาชาติ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาเพื่อระดมพลังความยั่งยืนของผู้นำภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักสากล 10 ประการของ UNGC เพื่อเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2573
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายให้ GCNT FORUM นี้เป็นกิจกรรมประจำปีของสมาคมฯ เพื่อเชื่อมโยงภาคธุรกิจภาครัฐ และภาคประชาสังคม ให้เข้ามามาร่วมมือกัน ซึ่งจะเป็นรากฐานในการแก้ปัญหาของประเทศไทยเราให้ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ เรายังจะเป็นส่วนสำคัญในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ที่จะแบ่งปันวิธีการ ตลอดจนองค์ความรู้ของไทยสู่สากล พร้อมรับวิธีการและองค์ความรู้ของนานาประเทศกลับมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความตระหนักรู้ของผู้นำในภาคเอกชน ตลอดจนระบบห่วงโซ่อุปทาน และความตระหนักรู้ของผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในอนาคต”
ทั้งนี้สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางเพื่อระดมสรรพกำลังพลังสมอง ความรู้และหลักการด้านความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อรักษาความมั่นคงทางชีวิต ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบสังคมของเรา เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องผนึกกำลังกัน เพื่อให้เราสร้างการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการรักษาการจ้างงาน เพื่อกลับมาได้ดีกว่าเดิม กลับมาได้แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยที่ทุกอย่างเริ่มต้นจากการตระหนักรู้ การวางเป้าหมาย มีการสอดประสานการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้มีศูนย์รวมเป้าหมายที่เป็นปึกแผ่น และเชื่อมโยงกับเป้าหมายของภาครัฐ เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น”
ทั้งนี้ งาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB) และสหประชาชาติ โดยภายในงานประกอบด้วยเวทีเสวนาใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการต่อต้านทุจริต โดยเวทีแรกเป็นเวทีเสวนา “ผู้นำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามวิถีใหม่” ได้หยิบยกประเด็นการดำเนินชีวิตท่ามกลาง COVID-19 ที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวในหลายมิติ ทั้งบุคคลและองค์กร ธุรกิจเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งองค์กรชั้นนำ ได้แก่ อินโดรามาเวนเจอร์ส บางจาก กลุ่มมิตรผล และสหประชาชาติ ได้แบ่งปันมุมมองในฐานะผู้นำองค์กร ที่ต้องสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยย้ำว่าการผลักดันของผู้นำองค์กร คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โดยเฉพาะการสื่อสารไปยังพนักงานทุกระดับอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง ส่วนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรและชุมชนในพื้นที่ที่องค์กรเข้าไปดำเนินธุรกิจ การใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการด้านความยั่งยืนที่สำคัญของแต่ละองค์กร อาทิ การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการรีไซเคิลในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานสะอาดมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มทักษะออนไลน์ อย่างไรก็ตาม วิถีผู้นำเพื่อความยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างพันธมิตร และในขณะที่องค์กรและประเทศพัฒนาไปข้างหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ การผนึกกำลังของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และฟันฝ่าผลกระทบจากวิกฤติการณ์ต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันนั้น มี 3 ปัจจัยที่สำคัญ คือ การสร้างความเท่าเทียม การปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม และการสร้างโอกาสให้คนในสังคมได้มีส่วนร่วม . – สำนักข่าวไทย