กรุงเทพฯ -24 ส.ค. – นิคมฯ อมตะยังไม่ทิ้งเป้าหมายขายที่ดินปีนี้ 950 ไร่ แม้ยอมรับกระทบหนักจากโควิด-19 คาดหวังปัญหาการเมืองไทยจะไม่บานปลาย ส่วนนิคมฯ ในเมียนมา ทั้ง “บีกริม- ปตท.” รุมจีบสร้างโรงไฟฟ้า ส่วนเวียดนาม คาดหวังจีดีพีไม่หดตัวดึงการลงทุน
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA กล่าวว่า บริษัทยังไม่เปลี่ยนเป้าหมายที่จะขายที่ดินในนิคมฯ ปีนี้ 950 ไร่ แม้ว่าครึ่งปีแรกจะขายได้เพียง 116 ไร่ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 จะเกิดขึ้นหรือไม่ และนักธุรกิจสามารถเดินทางเข้ามายังในไทยได้หรือไม่ หากเดินทางเข้ามาได้เชื่อมั่นว่ายอดขายจะเป็นไปได้ตามเป้าหมาย เพราะธุรกิจนี้นักลงทุนต้องการเข้ามาดูพื้นที่ด้วยตนเอง ซึ่งนักลงทุนจีนนับเป็นกลุ่มใหญ่และมีความต้องการซื้อพื้นที่แต่ละรายปริมาณสูง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยล่าสุดทางบริษัทได้มีการแจ้งรายชื่อแก่ทางการ เพื่อขอลงทะเบียนตามนโยบายรัฐในการผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของชาวต่างชาติกลุ่มเป้าหมายที่ตอบรับมาตรการสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) ที่เป็นนักธุรกิจ/นักลงทุน ประมาณ 500 คน แต่หากเกิดปัญหาเดินทางเข้ามาไม่ได้ ผู้ร่วมทุนในนิคมไทย-จีน จ.ระยอง ก็จะช่วยทำหน้าที่ในจีน เพื่อติดต่อนักลงทุนในการลงนามข้อตกลงซื้อขายที่ดินให้
นายวิบูลย์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเมืองที่มีการชุมนุมกันในขณะนี้ มองว่าการชุมนุมสามารถดำเนินการได้ตามวิถีประชาธิปไตย แต่ขอให้ไม่มีความรุนแรงและคงไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2557 เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวอาจลดลงประมาณร้อยละ 8-10 ขณะที่เวียดนามยังเป็นบวกได้ ในส่วนนี้อาจจจะทำให้เกิดการตัดสินใจลงทุนไปประเทศอื่นได้
“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยก็กระทบจากโควิด-19 และยังมีปัญหาการเมือง ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็หวังว่าจะทำงานได้ราบรื่นและแก้ไขข้อกำหนดราชการด้านต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน ซึ่งกรณีหากไทยเปิดให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาได้ ก็เชื่อมั่นว่าการลงทุนก็คงจะเกิดขึ้นเป็นหนึ่งในเครื่องจักรพยุงเศรษฐกิจไทย โดยที่ผ่านมาทางบริษัทได้ใช้วิธีออนไลน์ LIVE สดในการดึงดูดการลงทุน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนสินค้าอื่น ๆ เพราะนักลงทุนต้องการเข้ามาดูพื้นที่ด้วยตัวเองมากกว่า” นายวิบูลย์ กล่าว
นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ทางบริษัทได้มีนโยบายเหมือนกับบริษัทอื่น ตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน อย่างน้อยร้อยละ 30 และอมตะวอเตอร์ได้ติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 9 ล้านบาทต่อปี ส่วนราคาที่ดิน นิคมฯ ไม่ได้มีการปรับลดเหมือนกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อื่น ๆ ที่ในขณะนี้มีการลดราคาบ้าน-คอนโดมิเนียมลงมาบางแห่งลดถึงร้อยละ 30 เนื่องจากที่ดินในนิคมฯ นั้น เป็นการลงทุนระยะยาว และค่าที่ดินนับเป็นต้นทุนรวมของอุตสาหกรรมไม่ถึงร้อยละ 10 ขณะเดียวกันทางบริษัทก็ได้มีการตรึงค่าเช่าโรงงาน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนการลงทุนในเมียนมาและเวียดนามก็ยอมรับว่าการติดต่อ การซื้อขายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งในส่วนของเวียดนามปีนี้ขายได้กว่า 10 เฮกตาร์ หรือประมาณ 60 ไร่ แต่ขณะนี้กำลังเจรจาจากนักลงทุนที่ต้องการซื้อที่ดินขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้นักลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจจะเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น
ส่วนเมียนมานักลงทุนทั้งไทย ญี่ปุ่น และจีน สนใจที่จะใช้ที่ดินสำหรับการลงทุนที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการค้าขายระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มพัฒนาได้ในปี 2564 พื้นที่นี้อยู่ในเมืองย่างกุ้งได้รับการอนุมัติจัดตั้งนิคมฯ จากรัฐบาลเมียนมาแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจากับหลายบริษัทของไทยในการพัฒนาโรงไฟฟ้าในนิคมฯ เช่น กลุ่ม ปตท. กลุ่มบีกริม เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเมียนมามีบริษัท Yangon Amata Smart and Eco City Limited (YASEC) เป็นเจ้าของโครงการพัฒนานิคม ซึ่งบริษัทได้ลงทุนผ่านบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในอัตราส่วน 100% ของทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว คือ Amata Asia (Myanmar) Ltd ถือหุ้นใน YASEC ร้อยละ 80 และร่วมลงทุนกับหน่วยงานราชการของเมียนมาอีกร้อยละ 20 โดยหน่วยงานราชการดังกล่าวจะนำที่ดินที่เวนคืนมาได้เป็นทุนชำระ โดยโครงการนี้เป็นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้งในช่วงระยะเวลาที่ 1 (Yangon Amata Smart & Eco City) ซึ่งบริษัทได้วางแผนการลงทุนพัฒนาโครงการในช่วงแรกประมาณ 41.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,287 ล้านบาท สำหรับพัฒนาพื้นที่โครงการในช่วงแรกบนพื้นที่ 200 เอเคอร์ หรือประมาณ 506 ไร่ ภายในปี 64 โดยพื้นที่ทั้งหมดมีราว 2,000 เอเคอร์ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,022 ล้านบาท ตลอดในช่วงระยะเวลาที่ 1 เป็นเวลา 5-10 ปี. -สำนักข่าวไทย