กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – สมอ.ลุยปราบ-ยึด-ทำลาย สินค้าไม่ได้มาตรฐาน 10 เดือน อายัดกว่าพันล้าน ทำลายวันนี้กว่า 3 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท
นายจุลพงษ์ ทวีศรี ประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2563 ได้อายัดสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทั้งจำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้า 7 ประเภท คือ 1.เหล็กและวัสดุก่อสร้าง 2.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไดร์เป่าผม เตารีด เต้ารับเต้าเสียบ พัดลม เตาปิ้ง เตาย่าง กระติกน้้าร้อน หม้อหุงข้าว หลอดไฟ และกระทะ 3. ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ ยางล้อ ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ 4. ปิโตรเลียม เคมี และพอลิเมอร์ เช่น หมวกกันน็อค ถังน้ำพลาสติก ท่อพีวีซี และฟิล์มหุ้มอาหาร 5. ผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์ ได้แก่ ของเล่น 6. ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำดื่ม วุ้นเส้น และ 7. ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ได้แก่ ถุงมือทางการแพทย์ สินค้าเหล่านี้เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการทำลายที่ได้มาตรฐาน เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานวันนี้ (24 ส.ค.) เป็นสินค้าที่ สมอ. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ลงพื้นที่ตรวจจับและยึดอายัดกว่า 350,000 ชิ้น มูลค่ารวม 33,760,000 บาท เช่น กระทะไฟฟ้า ก๊อกน้ำ ของเล่น ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ หมวกนิรภัย เตารีด พัดลม เตาปิ้งย่าง และสวิตซ์ไฟฟ้า เป็นต้น เมื่อคดีสิ้นสุดแล้วจะเข้าสู่กระบวนการทำลายให้สิ้นสภาพด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเหล่านี้กลับไปหมุนเวียนในท้องตลาดหรือนำกลับมาใช้ได้อีก เพราะสินค้าบางรายการอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
สำหรับกระบวนการทำลาย สมอ.ร่วมกับบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้ามาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยี แพลนท์ ซึ่งเป็นโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศสามารถรองรับขยะอุตสาหกรรมได้หลายประเภทและขนาด ทั้งอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยทุกขั้นตอนเป็นแบบระบบปิดมีระบบการควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับขยะอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อเตรียมกำจัด การเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับแอชเมลติ้ง ซึ่งเศษวัสดุที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก เถ้าลอย ยังนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุเผาไหม้ไม่ได้ สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ โดยกระบวนการนี้ทำให้ไม่เหลือขยะอุตสาหกรรมที่ต้องกำจัดเพิ่ม นอกจากวัสดุที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีกตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน.-สำนักข่าวไทย