กรุงเทพฯ 18 ส.ค. – คลังเตรียมวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ-ประชาชนกว่า 114,000 ล้านบาท
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายตัวเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงประชาชนทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้มีรายได้ประจำขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลิกจ้างและปิดกิจการ แม้ว่ารัฐบาลมีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิดออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน
คณะรัฐมนตรีวันนี้ (18 ส.ค.) จึงมีมติเห็นชอบเรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสภาพคล่องสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป กลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยว และกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยและประชาชน วงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท
กลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป สินเชื่อ Soft loan ธนาคารออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงิน 10,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรง 3,000 ล้านบาท
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติตามพระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้าประกัน 8 ปี โดย บสย. จะเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแต่ละรายได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย.ค้ำประกัน สินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียม ร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้าประกัน 10 ปี
กลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยว สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชาระเงินต้น 1 ปี สินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 9,600 ล้านบาท โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี
กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยและประชาชน สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และบุคคลในครอบครัว วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชาระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดย บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 – 2 ต่อปี ระยะเวลาค้าประกัน 10 ปี ขยายเวลารับคาขอค้าประกันถึง 30 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการดูแลเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอ และจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจและภาคประชาชนให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงที ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.-สำนักข่าวไทย