กรุงเทพฯ 17 ส.ค. – ชาวประมง 22 จังหวัด เตรียมลุกฮือ พ้อรัฐบาลให้สัญญาลมเกือบ 6 ปี ไร้วี่แววแก้ปัญหากฎหมายรุนแรง ขาดแคลนแรงงาน เพิ่มวันทำการประมง ราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ลุยเจรจา รมว. เกษตรฯ ครั้งสุดท้าย หากแก้ไขไม่ได้ ยอมเลิกอาชีพ ขายเรือประมงคืนรัฐทั้งประเทศ
นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รอฟังผลจากการร่วมหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งพลเอกประยุทธ์สอบถามถึงสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ โดยผู้แทนสมาคมฯ แจ้งว่า เดือดร้อนจากการออกกฎหมายที่รุนแรงและมีโทษปรับสูงมาก การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาไทยไม่ได้คงเหลือเฉพาะแรงงานที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการประมงยินดีรับแรงงานไทยที่ตกงานมาทำงาน แต่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเรื่องเงียบหาย นอกจากนี้ ยังขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำการประมงให้เหมาะสม ตลอดจนควบคุมปริมาณการนำเข้าสัตว์น้ำประเภทที่เรือประมงไทยจับได้อยู่แล้ว เนื่องจากส่งผลให้ราคาสัตว์น้ำตกต่ำ อีกทั้งอาจมีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำที่เกิดจากเรือประมงต่างชาติที่ทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)
นายมงคล กล่าวต่อว่า พลเอกประยุทธ์ มารับฟังปัญหาอย่างไม่เป็นทางการและกล่าวว่าข้อมูลที่ได้รับฟังจากสมาคมฯ นั้น ไม่เหมือนกับที่ได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด ทางสมาคมฯ จึงหวังว่ารัฐบาลจะแก้ไขโดยเร็ว เพราะขณะนี้สมาคมประมง 22 จังหวัดขึ้นป้ายทุกพื้นที่ขอขายเรือประมงคืนให้รัฐ เนื่องจากแทบไม่สามารถประกอบอาชีพได้แล้ว
นายสุรเดช นิลอุบล นายกสมาคมประมงสงขลา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนประชุมหารือกับสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งจะทวงสัญญา 11 ข้อเรียกร้องตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ โดยเฉพาะสินเชื่อเสริมสภาพคล่องชาวประมงพาณิชย์ที่มีการนำเสนอข่าวว่าให้ไปยื่นกู้ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เมื่อชาวประมงจังหวัดต่าง ๆ ไปยื่นกู้กลับไม่สามารถกู้ได้
ทั้งนี้ มองว่าการที่คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่งตั้งคณะกรรมการอีก 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน และคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง มี พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย คือ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งผลให้แก้ปัญหาต่าง ๆ ล่าช้า ที่ผ่านมาไม่ชัดเจนว่าอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการฯ หรือกรมประมง ดังนั้น จะหารือ รมว.เกษตรฯ อีกครั้ง หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ชาวประมงเดือดร้อนมาเกือบ 6 ปีแล้วไม่สามารถแบกรับได้อีก หากการเจรจากับ รมว.เกษตรฯ ไม่เป็นผล ชาวประมงทั้งประเทศจำเป็นต้องเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย