กรุงเทพฯ 30 ม.ค.-การท่าเรือฯ มั่นใจ “ฮัทชิสัน พอร์ท”ดึงเรือขนาดใหญ่ของโลก เข้าใช้ท่าเทียบเรือ ชุด Dแหลมฉบัง ส่งผลสินค้าผ่านท่าแหลมฉบังกว่า 18 ล้านทีอียูต่อปี ขึ้นแท่นท่าเรือระดับโลก
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช. คมนาคม เปิดเผย ภายหลัง เปิดท่าเทียบเรือชุด D (D1,D2,D3)ที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบในการบริหารจัดการท่าโดยบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ต ประเทศไทยว่า เป็นการให้บริการท่าเทียบเรือที่ คาดว่าจะสามารถดึงเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเข้ามาใช้บริการที่ประเทศไทยได้จากเดิมเรือขนาดใหญ่จะลงท่าที่ท่าเรือของสิงคโปร์มากกว่า เนื่องจากท่าเทียบเรือดังกล่าวมีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล(รีโมทคอนโทรล)อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งปั้นจั่นหน้าท่า และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางทั้งหมด โดยผู้ควบคุมจากเดิมอยู่หน้าท่า ก็ปรับเปลี่ยนมาบังคับควบคุมที่ห้องปฎิบัติการระยะไกลแทน
ทั้งนี้ เมื่อเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ Dจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 3.5 ล้านทีอียูต่อปี และจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังได้อีกร้อยละ 40 และยิ่งเมื่อโครงการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบรวมถึงเปิดให้บริการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ด้วยจะทำให้ ทลฉ.รองรับตู้สินค้าผ่านหน้าท่าจาก 8ล้านทีอียูต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น18 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งจะทำให้ ท่าเรือ ทลฉ.เป็นท่าเรือระดับโลก
“นับเป็นครั้งแรกในไทยที่การขนส่งตู้สินค้าลงและขึ้นเรือทั้งหมดจะดำเนินการด้วยปั้นจั่นที่ติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจาก รีโมทคอนโทรลทั้งหมด ซึ่งท่าเทียบเรือแห่งใหม่นี้ จะยังช่วยต่อยอดการพัฒนาอีอีซี และเชื่อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนด้วย เนื่องจากภาครัฐได้มีการลงทุน โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน , รถไฟทางคู่ เป็นต้นและการดำเนินการก็จะเชื่อมต่อสานต่อไปยังรัฐบาลใหม่ด้วย”นายไพรินทร์กล่าว –
ด้านนายอาณัติ มัชฌิมา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด กล่าวว่า ท่าเทียบเรือชุด D จะมีความยาวหน้าท่ารวม 1,700 เมตร ประกอบไปด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง 43 คัน อุปกรณ์ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ราว 3.5 ล้านทีอียูต่อปี จะส่งผลให้เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในการขนส่งสินค้าที่ ทลฉ.เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34เป็นร้อยละ 50ใน ปี66-67 ให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 13ล้านทีอียูต่อปี มั่นใจจะเป็นส่วนช่วยผลักดันอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ในภาพรวมโตร้อยละ 4-5ต่อปี-สำนักข่าวไทย