กรุงเทพฯ 2 ม.ค.- รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวและการส่งออก หนุน เศรษฐกิจไทยปี 61 โตได้ร้อยละ 4.0- 4.5
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร (MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังเติบโตได้ร้อยละ 4.0 – 4.5 จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 3.8 เนื่องจากแนวโน้มต่างประเทศส่งสัญญาณเชิงบวกทั้งจากฝั่งยุโรปที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และการคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ รวมถึงสัญญาณการทำเขตการค้าเสรีหรือ FTA กับประเทศไทย ซึ่งเป็นผลเชิงบวกต่อภาคการค้าและภาคการส่งออกของไทยขณะเดียวกันทางสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีเช่นกันจากการดำเนินนโยบายปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 21 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนให้เพิ่มสูงขึ้นและประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด จะประกาศปรับดอกเบี้ยนโยบายจากที่อยู่ร้อยละ 1.5 อีก 2-3 ครั้งในปี 2561 นี้
ส่วนคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างประเทศญี่ปุ่น ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการ QE และประเทศจีนมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออก มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายใน ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตต่อเนื่องได้อีกหลายปีโดยประมาณร้อยละ 6.5 – 7 และอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ถือครองสัดส่วนการส่งออกของไทยมากถึงร้อยละ 25.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ก็ส่งสัญญาณเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เฉลี่ยแล้วตลอดทั้งปี กลุ่มอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6
นอกจากนี้ กระแสความนิยมของประเทศไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวถึงร้อยละ 20.9 ส่วนในแง่รายได้เติบโตร้อยละ 24.4 โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่ยังให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 รองจากยุโรป ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่า ปัจจัยภายดังกล่าวจะเป็นผลเชิงบวกต่อภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งประเมินว่าในปี 61 ภาคการส่งออกของไทยจะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6
ส่วนปัจจัยบวกในประเทศนั้น ภาครัฐยังคงใช้นโยบายการคลังเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเร่งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 60 ที่ยังคงค้างอยู่และจัดตั้งงบประมาณปี 61 ที่สูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท รวมถึงงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งเป้าไว้ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยภาครัฐมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลหลายโครงการ ที่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้ให้เพิ่ม นอกจากนี้การกำหนดการเลือกตั้งจะส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นในสายตาต่างประเทศและบรรยากาศในการลงทุน และมีผลต่อการขับเคลื่อนภาคการลงทุนที่ขอผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับประเด็นที่ต้องระมัดระวังในปี 61 คือ เศรษฐกิจฐานรากของไทยที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่เป็น เพราะสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าภาครัฐจะเร่งรัดลงทุนหลายโครงการเป็นจำนวนมาก แต่การกระจายตัวเม็ดเงินของรายได้ยังไม่ดีนัก รวมถึงการกระจายตัวของประโยชน์จากนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ซึ่งหากสามารถดำเนินการแก้ไขในจุดเหล่านี้ได้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 61 สดใสมากขึ้น
“ภาพรวมปีนี้ หากรัฐบาลลุยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงบลงทุนผ่านการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน การเร่งดำเนินการโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการเลือกตั้ง มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีและเกษตรกร และเงื่อนไข AEC ที่ยังคงเป็นโอกาสและเป็นผลเชิงบวกต่อการลงทุนให้กับประเทศได้ คาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโตได้ดีกว่าปีนี้อย่างแน่นอน” รศ.ดร.มนตรี กล่าว
ขณะที่การคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับร้อยละ 1.5 ส่วนระดับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 1.5 และค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ในระดับ 31 – 33 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ และ SET index น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,875 – 1,925 จุด นับว่าเป็นสถิติของตลาดหลักที่สูงที่สุดตั้งเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา-สำนักข่าวไทย