กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – ส.อ.ท. เผยเดือน มิ.ย.68 ผลิตรถยนต์ 130,223 คัน เพิ่มขึ้น 2 เดือนต่อเนื่อง ขายเพิ่มขึ้น แต่ส่งออกลดลง ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3,304 คัน เพิ่มขึ้น 314.55% ขายรถBEV กว่า 9,373 คัน เพิ่มขึ้น 74.87% พร้อมปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ปี 68 เหลือ 1,45 ล้านคัน จับตาผลเจรจาสหรัฐกับประเทศคู่ค้าก่อนครบกำหนด 1 ส.ค.
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2568 โดยจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้มีทั้งสิ้น 130,223 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2568 ร้อยละ 6.44 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อยละ 11.98 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้นจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) เพิ่มขึ้นร้อยละ 314.55 และผลิตรถกระบะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.39 จากการผลิตรถกระบะส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.00 และผลิตเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.27 จากฐานต่ำในเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 724,715 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 4.80
รถยนต์นั่ง เดือนมิถุนายน 2568 ผลิตได้ 51,019 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อยละ 18.56 โดยเฉพาะ รถยนต์ Battery Electric Vehicle มีจำนวน 3,304 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อยละ 314.55 ส่งผลให้ยอดผลิตของรถยนต์นั่ง ครึ่งปีแรก มกราคม – มิถุนายน 2568 มีจำนวน 264,668 คัน เท่ากับร้อยละ 36.52 ของยอดการผลิตทั้งหมด
รถกระบะขนาด 1 ตัน เดือนมิถุนายน 2568 ผลิตได้ทั้งหมด 78,492 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อยละ 8.39 และตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2568 ผลิตได้ทั้งสิ้น 455,678 คัน เท่ากับร้อยละ 62.88 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 ร้อยละ 2.37 แม้จะมีโครงการ “กระบะพี่มีคลังค้ำ แต่มองว่ายังไม่ช่วยกระตุ้นเท่าที่ควร
สำหรับการผลิตเพื่อส่งออก เดือนมิถุนายน 2568 ผลิตได้ 84,918 คัน เท่ากับร้อยละ 65.21 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อยละ 3.85 ส่วนครึ่งปีแรก 2568 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 475,013 คัน เท่ากับร้อยละ 65.54 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2567 ระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 7.98
ขณะที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนมิถุนายน 2568 ผลิตได้ 45,305 คัน เท่ากับร้อยละ 34.79 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อยละ 31.24 และเดือนมกราคม – มิถุนายน 2568 ผลิตได้ 249,702 คัน เท่ากับร้อยละ 34.46 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 ร้อยละ 1.90
ด้านยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมิถุนายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 50,079 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2568 ร้อยละ 4.12 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อยละ 5.07 เพราะฐานต่ำของปีที่แล้ว จากยอดขายที่ลดลงตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกันจากการขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและรถ PPV เพิ่มขึ้นจากการออกรุ่นใหม่ของบางบริษัท แต่รถกระบะยังคงขายลดลงร้อยละ 19.9 จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจในประเทศยังคงอ่อนแอจากการลงทุนภาคเอกชนไตรมาสหนึ่งของปี 2568 ลดลงร้อยละ 0.9 จากไตรมาสหนึ่งของปีก่อน ส่งผลให้แรงงาน โดยภาคการผลิตลดลง 0.4% สาขาก่อสร้างลดลง 5.1% อำนาจซื้อของประชาชนจึงอ่อนแอ โดยช่วงครึ่งปี 2568 รถยนต์มียอดขาย 302,694 คัน ลดลงจากปี 2567 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 1.73
ขณะที่การส่งออก รถยนต์สำเร็จรูป เดือนมิถุนายน 2568 ส่งออกได้ 88,085 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 8.65 แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อยละ 1.11 ลดลงจากการเลิกผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งออกบางรุ่นจากการเข้มงวดเรื่องอุปกรณ์ช่วยเหลือการขับเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของประเทศคู่ค้า ขอบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ประเทศไทยย้อนหล้ง “เดือนเมษายน 2568 เป็นเดือนแรกที่มีการผลิตรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นเดือนแรกที่ส่งออกรถกระบะไฟฟ้าจากการผลิตในประเทศไทย”
รวมมูลค่าเดือนมิถุนายน 2568 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 84,734.83 ล้านบาท ลดลงจากปี 2567 ร้อยละ 4.30 โดย ครึ่งปีแรก 2568 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 475,286.07 ล้านบาท ลดลงจากปี 2567 ร้อยละ 8.68
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าได้มีการปรับประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่มฯ ในปี 2568 จากเดิม 1,500,000 คัน ลดลงร้อยละ 3.33 เป็น 1,450,000 คัน ลดลง 50,000 คัน โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตเพื่อส่งออกลดลงร้อยละ 5 จาก 1,000,000 คันเป็น 950,000 คัน สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับลดเป้าหมายการผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ มาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อและยอดจำหน่ายรถยนต์ลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจาก การเพิ่มความเข้มงวดด้านข้อกำหนดการปล่อยคาร์บอน การยุติการผลิตรถยนต์บางรุ่นเพื่อปรับไลน์การผลิตสู่รุ่นใหม่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคของโลก และการรุกตลาดของรถยนต์ในประเทศคู่ค้า ซึ่งเพิ่มการแข่งขันและกดดันยอดขาย
สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568
มีจำนวนทั้งสิ้น 296,784 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 61.98 ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท HEV มีจำนวนทั้งสิ้น 542,371 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 30.73 ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท PHEV มีจำนวนทั้งสิ้น 74,557 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 26.85.-516-สำนักข่าวไทย