นนทบุรี 16 ก.ค. – รมช.พาณิชย์ เผยกระทรวงพาณิชย์เร่งวิเคราะห์ผลกระทบจาก “ภาษีทรัมป์” เพื่อสนับสนุน “ทีมไทยแลนด์” เจรจากับสหรัฐอเมริกา มั่นใจข้อเสนอเปิดตลาดในอัตราภาษี “เกือบ 0% ถึง 0%” ซึ่งครอบคลุมกว่า 90% ของรายการสินค้า จะได้รับการตอบรับเชิงบวก ความท้าทายสำคัญคือการจัดทำหลักเกณฑ์ RVC เพื่อวัดสัดส่วนการผลิตในประเทศให้สอดคล้องกับเงื่อนไขใหม่ของสหรัฐฯ โดยยังคงรักษาสมดุล ไม่ตัดจีนออกจากระบบการผลิตของไทย ย้ำข้อเสนอใหม่จะได้ข้อยุติเร็ววันนี้ ก่อนเส้นตายภาษี 36% มีผลบังคับใช้ 1 สิงหาคมนี้
นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งจัดทำข้อมูลสนับสนุนการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยเน้น 3 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1.จัดทำข้อมูลสินค้าและโอกาสการเปิดตลาด 2.วิเคราะห์ผลกระทบและวางกลยุทธ์การเจรจา 3.เตรียมมาตรการรองรับ เช่น การย้ายห่วงโซ่อุปทาน หาตลาดใหม่ และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกเสนอในการประชุมร่วมกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา “ทีมไทยแลนด์” เมื่อช่วงเย็นวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา


สำหรับข้อเสนอเปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ รอบที่สอง ซึ่งไทยส่งไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม อยู่ในอัตราภาษี “เกือบ 0% ถึง 0%” ครอบคลุมกว่า 90% ของประมาณ 10,000 รายการ โดยยังรอคำตอบจากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ส่วนอีก 10% ไทยอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอ่อนไหว เช่น เกษตรกรรมและ SME ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
หนึ่งในภารกิจสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการขณะนี้ คือ การพัฒนาหลักเกณฑ์การคำนวณ “มูลค่าในประเทศ” หรือ RVC (Regional Value Content) เพื่อใช้วัดสัดส่วนมูลค่าที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในประเทศให้สอดคล้องกับเกณฑ์ใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดให้แยกมูลค่าการผลิตออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
• ผลิตในประเทศไทย
• ผลิตในสหรัฐฯ
• ผลิตในประเทศพันธมิตรหรือประเทศที่สาม
การจัดทำระบบ RVC ที่ตรวจสอบได้และใช้งานได้จริง จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการประเมินสัดส่วนการผลิตในประเทศ หรือ Local Content ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประกอบการเจรจาครั้งต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะมีการหารือรอบใหม่กับสหรัฐฯ ในเร็ว ๆ นี้
นายฉันทวิชญ์ระบุว่า เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ใช้งานได้จริง และสามารถระบุได้ว่า สินค้าแต่ละชิ้นมีการผลิตในไทย สหรัฐฯ หรือประเทศอื่นในสัดส่วนเท่าใด เพื่อใช้เป็นหลักในการต่อรอง เพราะหากไม่มีข้อมูลเหล่านี้ก็จะทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจา
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากให้ความร่วมมือโดยยินยอมส่งข้อมูลที่มีความอ่อนไหวเช่น สัดส่วนวัตถุดิบและกระบวนการผลิต ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ถือเป็นความเสียสละที่สำคัญเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยอมเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจซึ่งปกติถือเป็นความลับ เพื่อให้ทีมเจรจาของไทยมีข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนที่สุดในการต่อรอง
นายฉันทวิชญ์ ย้ำว่า แม้สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยลดบทบาทของจีนในห่วงโซ่การผลิต แต่ไทยจะไม่ผลักจีนออกโดยสิ้นเชิง เพราะจีนยังเป็นฐานวัตถุดิบที่สำคัญในระบบการผลิตของไทย โดยจะดำเนินการภายใต้หลักการรักษาสมดุล ไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น และนายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการค้าระหว่างกัน และร่วมผลักดันแนวทางส่งเสริมความร่วมมือ รวมถึงการเจรจาปรับสมดุลทางการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว. -512 – สำนักข่าวไทย