กรุงเทพฯ 23 พ.ค. – ทรูประกาศชดเชย หลังสัญญาณล่มวานนี้ ด้านสภาผู้บริโภคเรียกร้อง กสทช. ทบทวนโครงสร้างตลาดคมนาคม
หลังจากวานนี้สัญญาณทรูเกิดล่ม คนใช้มือถือ อินเทอร์เน็ตทรู มีปัญหาสัญญาณขัดข้องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทางทรูประกาศขออภัย ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าปัญหาเกิดจากระบบไฟฟ้าขัดข้องที่ศูนย์โครงข่ายหลัก (Core Network) ทำให้ต้องใช้เวลาตรวจสอบและแก้ไขอย่างรอบคอบ สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทรูเยียวยาจะได้รับดาต้าฟรี 10 GB และโทรฟรี 100 นาที ใช้งานได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการส่ง SMS แจ้งรายละเอียดการชดเชยแก่ลูกค้าต่อไป
นายจุฑา สังขชาติ อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ระบุว่า เหตุการณ์สัญญาณทรูล่มส่งผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากทรูมีผู้ใช้บริการมากกว่า 62.93 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 57.79% ของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าความเสียหายของประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่ใช้บริการทรูนั้น อาจประเมินมูลค่าไม่ได้ โดยเมื่อสืบค้นข้อมูลเหตุการณ์อินเทอร์เน็ตล่มในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้หลายครั้ง เช่น 30 พฤษภาคม 2567 อินเทอร์เน็ตทรูล่มนานกว่า 5 ชั่วโมง, 27 เมษายน 2568 อินเทอร์เน็ตบ้าน AIS Fibre ล่มนานหลายชั่วโมง, 10 พฤษภาคม 2567 สัญญาณมือถือของ AIS ขัดข้องในหลายพื้นที่ เป็นต้น

นายจุฑา กล่าวว่า ความถี่ของเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลักเหลือเพียง 2 ราย กำลังสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ สิทธิของผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะภายหลังการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นที่ประจักษ์จากเหตุการณ์นี้ว่า ความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศกำลังสั่นคลอน ในภาวะผูกขาดเมื่อ 1 ใน 2 ผู้ให้บริการมีปัญหาการส่งสัญญาณ ในขณะที่มีกระแสข่าวค่ายมือถือ AIS เสนอซื้อลูกค้าของ NT หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐที่มีสัดส่วนในตลาดโทรคมนาคมเพียง 1.26% (ประมาณ 1.4 ล้านเลขหมาย) อาจเป็นเหตุให้ NT ถอยออกไปจากการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ซึ่งทำให้ภาครัฐไม่มีส่วนแบ่งในคลื่นสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในมือเอกชนเพียงแค่สองราย จนอาจกลายเป็นผลกระทบด้านลบต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ ในขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่ายังผู้บริโภคจำนวนหนึ่งยังเห็น NT เป็นทางเลือกที่ 3 และต้องการยืนหยัดใช้บริการของ NT จึงเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุน NT ให้ดำรงอยู่ในตลาดโทรคมนาคม และพัฒนาให้เป็นคู่แข่งที่สามในตลาด ที่จะสามารถเป็นกลไกถ่วงดุลและให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภค
อนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค เรียกร้องให้ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อย่างโปร่งใสและออกมาตรการชดเชยแบบอัตโนมัติให้ผู้บริโภคทุกคนที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่ต้องร้องเรียนเป็นรายบุคคล เช่น ลดค่าบริการรายเดือน ขยายเวลาใช้งาน หรือเพิ่มสิทธิใช้งานพิเศษตามระยะเวลาที่ใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการส่งเสริมระบบอินเทอร์เน็ตกลางของภาครัฐ เพื่อใช้เป็นเครือข่ายสำรองในกรณีฉุกเฉิน ลดการพึ่งพาโครง ข่ายของเอกชนเพียงไม่กี่รายที่อาจมีปัญหาได้ในเวลาเดียวกัน
นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ยังเสนอให้การประมูลคลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ มีการกำหนด เงื่อนไขเกี่ยวกับการชดเชยและคุ้มครองผู้บริโภค เป็นข้อผูกพันของผู้ได้รับใบอนุญาตด้วย เพื่อให้การถือครองคลื่น ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศ ไม่กลายเป็นเพียงสิทธิในการทำกำไรของเอกชนโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ. -511- สำนักข่าวไทย