กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – สมอ. จะบังคับให้ Power Bank และวัสดุเครื่องใช้ที่สัมผัสอาหาร ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สมอ. เตรียมกำหนดให้แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานพกพา หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Power Bank และวัสดุเครื่องใช้ที่สัมผัสอาหาร เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม ที่ทำจากพลาสติก เมลามีน สแตนเลสหรือไม้ และกล่องโฟมบรรจุอาหาร ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน หลังคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เห็นชอบในหลักการ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน หากใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
Power Bank เป็นอุปกรณ์จ่ายไฟสำรอง สำหรับมือถือ แท็บเล็ต ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่ใช้แบตเตอรี่ ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถใช้อุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่องทุกที่ทุกเวลา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมักปรากฏข่าวอยู่บ่อยครั้งเรื่อง Power Bank เกิดการระเบิดเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน สมอ. จึงผลักดันให้แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพาต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.2879-25xx ซึ่งในมาตรฐานนี้กำหนดให้ทดสอบตามมาตรฐาน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเซลล์และแบตเตอรี่ทุติยภูมิที่มีอิเล็กโทรไลต์ แอลคาไลน์ หรืออิเล็กโทรไลต์อื่นที่ไม่ใช่กรด สำหรับการใช้งานแบบพกพา เฉพาะด้านความปลอดภัย มาตรฐานเลขที่ มอก. 2217-2548 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เฉพาะด้านความปลอดภัย เล่ม 1 คุณลักษณะที่ต้องการทั่วไป มาตรฐานเลขที่ มอก. 1561-2556 เล่ม 1 นอกจากนี้ ผู้ทำ ผู้นำเข้าจะต้องแนบคู่มือข้อแนะนำการใช้งานมากับผลิตภัณฑ์ รวมถึงแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ด้วย
สำหรับวัสดุเครื่องใช้ที่สัมผัสอาหารนั้น ในปัจจุบันผลิตจากวัตถุดิบหลากหลายมากขึ้น เช่น พลาสติก โลหะ กระดาษ เซรามิก ซึ่งมีคุณสมบัติและการนำไปใช้งานแตกต่างกันตามความเหมาะสมของชนิดอาหาร และยังมีการตกแต่งสีสันลวดลายให้สวยงามเพื่อดึงดูดผู้บริโภค ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้มีสารที่เป็นอันตรายละลายออกมาปนเปื้อนกับอาหารที่รับประทานเข้าไป ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงในการรับสารโลหะหนัก อันเป็นสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย เช่น สารตะกั่ว แคดเมี่ยม สมอ. จึงเห็นควรกำหนดให้วัสดุเครื่องใช้ที่สัมผัสอาหารเป็นผลิตภัณฑ์บังคับ เฉพาะด้านความปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งผลิตภัณฑ์ลำดับแรกๆที่จะกำหนดรวมถึงเครื่องใช้ประเภทที่ทำจากโฟมด้วย ก่อนหน้านี้ สมอ. ได้ประกาศมาตรฐานที่เกี่ยวข้องไปแล้วหลายฉบับ เช่น มอก. 564-2546 ภาชนะเซรามิกใช้กับอาหาร มอก. 603-2546 ภาชนะแก้วที่ใช้กับอาหาร มอก. 998-2553 ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค และได้ประกาศมาตรฐานบังคับอีก 2 มาตรฐาน คือ มอก. 1336-2536 ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร และ มอก. 2440-2552 เครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิม : ภาชนะหุงต้มที่มีรอยประสาน
เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดทำและปรับปรุงมาตรฐาน สมอ. จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาประกอบการพิจารณาการตราพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหากมาตรฐานมีผลบังคับใช้ ดังนั้นผู้ใดจะประสงค์แสดงความคิดเห็นสามารถติดตามข่าวสารและประกาศที่ www.tisi.go.th http://pr.tisi.go.th FB : tisiofficial และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองกฎหมาย สมอ.-สำนักข่าวไทย