กรุงเทพฯ 17 ต.ค. – กระทรวงเกษตรฯ จับมือบางจากฯ และบีบีจีไอ หนุน “ลดเผา เบาฝุ่น” ส่งเสริมเกษตรกร ลดการเผาตอซังและฟางข้าว เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยจุลินทรีย์
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ “ลดเผา เบาฝุ่น” ระหว่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อสนับสนุนการลดการเผาในภาคการเกษตร โดยใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ย่อยตอซังและฟางข้าว ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะช่วยเกษตรกรลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และลดการปลดปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม
นายประยูร กล่าวย้ำว่า เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชเป็นการปลูกแบบไม่เผา โดยเน้นการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแและเป็นประโยชน์ต่อดิน ซึ่งการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว ช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากภาคการเกษตร เพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีและสิ่งแวดล้อม โครงการ “ลดเผา เบาฝุ่น” จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ครอบคลุมพื้นที่นำร่อง 59,000 ไร่ ใน 6 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯ พร้อมสนับสนุนเกษตรกรใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงร่วมมือกับบีบีจีไอ บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก ในการพัฒนาจุลินทรีย์ย่อยตอซังที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าวภายใน 7 วัน ลดความจำเป็นในการเผาและช่วยฟื้นฟูคุณภาพดิน ซึ่งนอกจากจะลดฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินในระยะยาว หลังได้ช่วยเหลือเกษตรกรนำร่องใน 6 จังหวัดแล้ว หากเกษตรรายอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการในอีกไม่ช้าจะเริ่มวางจำหน่ายผ่านออนไลน์
นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บีบีจีไอ ได้ศึกษาวิจัยร่วมกับพันธมิตร ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการเผา แต่ยังเป็นการช่วยพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างประโยชน์ระยะยาว โดยพร้อมขยายการผลิตรองรับความต้องการของเกษตรกรจำนวนมาก
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการเผาของเกษตรกร ต้องใช้เทคโนโลยีและให้เกษตรกรเห็นผลจริงจากการทดสอบ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภาคการเกษตร โดยต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างอากาศสะอาด พื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน ซึ่งจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการและพื้นที่ของเกษตรกร พบว่าจุลินทรีย์สามารถย่อยสลายตอซังและฟางข้าวได้ภายใน 7 วัน มีขั้นตอนการใช้งานอย่างง่าย ได้รับการยอมรับจากเกษตรกร เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เผาในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก สำหรับระยะต่อไป มีแผนที่จะสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมในพื้นที่ 6 จังหวัดรอบกรุงเทพมหานคร.-515- สำนักข่าวไทย