กรุงเทพฯ 7 ต.ค.-น้ำท่วมผักแพงและราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้น ส่งผลเงินเฟ้อทั่วไป ก.ย. สูงขึ้น 0.61% สูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.74-0.80% สนค.ได้ปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ใหม่ มาอยู่ที่ 0.2-0.8% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มครั้งแรกในรอบ 3 เดือน อิทธิฤทธิ์แจกเงิน 1 หมื่นบาท
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ก.ย.67 อยู่ที่ 108.68 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 0.61% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล รวมทั้งผักสดบางชนิดที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ราคาแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซินปรับลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 0.20% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.ย.67 อยู่ที่ 105.18 หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.77% โดยเฉลี่ย 9 เดือนแรก เงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.48%
ทั้งนี้ สนค.ได้ปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ใหม่ มาอยู่ที่ 0.2-0.8% จากเป้าเดิมที่ 0-1% แต่ค่ากลางยังคงอยู่เท่าเดิมที่ 0.5% เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับสถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าคาด โดยสมมติฐานล่าสุดของเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ในปี 67 นี้ มาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ที่ 2.3-2.8% น้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปี 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปี 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.35 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว) ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.60 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (QoQ) ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 9 เดือน (มกราคม – กันยายน) ของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.20 (AoA)
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 4 ปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2567 จากราคาน้ำมันดีเซลที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน, ผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร และสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง, การแข็งค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง และคาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง – ค้าปลีกรายใหญ่ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกไปแล้ว
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกันยายน 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.6 จากระดับ 49.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 43.1 จากระดับ 41.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 57.2 จากระดับ 55.1 สาเหตุของการปรับเพิ่มคาดว่ามาจาก ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคการส่งออกและปัจจัยฤดูกาลช่วงปลายปี ,การดำเนินนโยบายภาครัฐที่เร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่และ3 ราคาพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายรายการปรับตัวดีขึ้น อาทิ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับภาวะอุทกภัยภายในประเทศที่สร้างความเสียหายต่อครัวเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ยังเป็นปัจจัยกดดันที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป.-511-สำนักข่าวไทย