กรุงเทพฯ 4 ต.ค. – สมาคมประกันวินาศภัยระบุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้รูปแบบความเสี่ยงจากอุทกภัยเปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตจะต้องพิจารณารูปแบบการบริหารความเสี่ยงและออกแบบผลิตภัณฑ์การประกันวินาศภัยให้สอดรับกับความเสียหายจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จัดโครงการสร้างการตระหนักรู้เพื่อรับมืออุทุกภัยในยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน โดยมี รศ.คร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบรรยายเรื่อง “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการเกิดอุทกภัยในประเทศไทย” โดยกล่าวว่า อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในฤดูแล้งก็แล้งจัด ส่วนในฤดูฝนก็มีฝนตกเพิ่มขึ้นกว่าค่าปกติ อีกทั้งรูปแบบการตกของฝนยังเปลี่ยนไป เป็นการตกหนักในห้วงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2567
ทั้งนี้ คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC-AR6) จัดทำรายงานซึ่งระบุว่า โลกจะยังคงมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด ดังนั้นหลายพื้นที่มีโอกาสจะเผชิญภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม ในการเสวนาหัวข้อ “อุตสาหกรรมประกันภัยและบทบาทในการบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือภัยน้ำท่วม” นางสาววสุมดี วสีนนท์
รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า เมื่อเกิดอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันภัยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ทันที ระยะแรกเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ต่อมาได้ยกระดับการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถสำรวจความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ทำประกันภัยรูปแบบต่างๆ อย่างเร็วที่สุด
นายพงษ์ภาณุ ดำรงศิริ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวว่า การบริหารความเสี่ยงในอุตสาหกรรมประกันภัยจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่น ในปี 2554 ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงคือ พื้นที่ริมแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา โดยระดับน้ำจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น แต่ในปี 2567 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ที่ฝนตกหนักมากในระยะสั้นๆ น้ำไหหลากอย่างรวดเร็ว ทั้งยังพัดพาดินโคลนมาด้วย ดังนั้นอุตสาหกรรมประกันภัยจะต้องปรับรูปแบบการบริหารความเสี่ยงและผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อให้ครอบคลุมความเสียหายของผู้ทำประกันภัย. -512-สำนักข่าวไทย