กรุงเทพฯ 5 ก.ย. – ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ระบุพร้อมชี้แจงต่อศาลปกครอง ในคดีที่กระทรวงฯ ถูกฟ้องกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยต้องชี้แจงถึงหน้าที่ตามกฎหมาย สิ่งที่เป็นห่วงคือการเฝ้าระวังไม่ให้ระบาดในแหล่งน้ำปิด-ชายฝั่งทะเล ซึ่งจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอย่างเต็มที่
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงเรื่องที่สภาทนายความ ซึ่งเป็นเป็นผู้รับมอบอำนาจจากตัวแทนประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภออัมพวา และอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม 54 คน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยระบุว่าในฐานะส่วนราชการ เมื่อถูกฟ้องร้องก็มีหน้าที่ต้องชี้แจงต่อศาลถึงบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ผ่านมากระทรวง ทส. ประกาศเป็นชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น พร้อมเฝ้าระวังในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง
สิ่งที่เป็นห่วงคือ แหล่งน้ำปิดต่าง ๆ ซึ่งต้องเฝ้าระวังไม่ให้แพร่กระจายไป ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแล ขณะเดียวกันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เฝ้าระวังพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยพร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางรวมทั้งหมด 18 ราย ได้แก่ 1. กรมประมง 2. อธิบดีกรมประมง 3. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8. อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 9. คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 10. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 13. คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 14. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15. อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16. กระทรวงมหาดไทย 17. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ 18. กระทรวงการคลัง. -512 – สำนักข่าวไทย