กรุงเทพฯ 14 ส.ค. – คปภ.หนุนชาวสวนทำประกันภัย “ชาวสวนกล้วยหอมทอง” จ.นครราชสีมา ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เร่งผลิตส่งตลาดญี่ปุ่น
นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 “การประกันภัยกล้วยหอมทอง” โดยลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตรกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อเป็นกลไกบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ ขยายประกันภัยพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น กล้วยหอมทอง
ดังนั้น ในปี 2567 คปภ.ได้ลงพื้นที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสำรวจแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมทองรายใหญ่ ชาวบ้านรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในปี 2559 ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาปลูกกล้วยหอมทอง เพราะขายได้ราคาดี จึงกลายมาเป็นบริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด ต่อมาในปี 2564 ผลิตและส่งออกกล้วยหอมทองได้มาตรฐาน GAP รวมถึงมีโรงคัดบรรจุตามระบบ GMP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น


นับว่าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของราคา เพราะบริษัทประกันราคาซื้อกิโลกรัมละ 19 บาท ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกล้วยหอมทอง ณ ปัจจุบันยังไม่เพียงพอในการส่งออก โดยผลิตได้เพียง 5,000 ตันในขณะที่ความต้องการ 8,000 ตัน คปภ. จึงเป็นห่วงคือความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และภัยลมพายุ จะทวีความรุนแรงมากขึ้นและยากต่อการป้องกัน ดังนั้น หากเกษตรกรได้นำระบบประกันภัยเข้าไปเป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงก็จะช่วยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ สำนักงาน คปภ. ได้ออกบูธแนะนำ ให้ความรู้ด้านการประกันภัย จากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ให้กับเกษตรกรและชาวสวน ผู้ปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่ อำเภอเสิงสาง จำนวนมาก.-515- สำนักข่าวไทย