กรุงเทพ 1 ส.ค. – ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าขับเคลื่อนศักยภาพธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยต่อเนื่อง มุ่งเพิ่มขีดความสามารถและขยายโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน โดยจัดงาน “The 2nd SET Annual Conference on Family Business: Family Business in the Globalized Asia” วันที่ 1-2 ส.ค. นี้ มีผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาจากสถาบันชั้นนำระดับนานาชาติ มาถ่ายทอดเรื่องราวเส้นทางการเติบโตของธุรกิจ รวมถึงกลยุทธ์จนประสบความสำเร็จสามารถส่งต่อธุรกิจและเติบโตได้อย่างมั่นคง
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทย เนื่องจากธุรกิจครอบครัวนับเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนกลยุทธ์สำคัญที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ และระบบงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ สร้างความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจ และขยายโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนถึง 67% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด โดยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 บริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ 76% เป็นธุรกิจที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่อย่างตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เป็นอีกหนึ่งกลไกให้ธุรกิจครอบครัวขยายโอกาสสู่การเติบโตผ่านตลาดทุนได้เช่นกัน
ปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดสัมมนาใหญ่ด้านธุรกิจครอบครัวเป็นครั้งแรกซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี จึงจัดขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ “The 2nd SET Annual Conference on Family Business” ภายใต้แนวคิด “Family Business in the Globalized Asia” สอดรับความต้องการของผู้ประกอบการไทยในยุคปัจจุบันที่เอเชียและทั่วโลกเชื่อมโยงกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน สังคม และภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะเน้นแลกเปลี่ยนวิธีคิดและกลยุทธ์ที่ธุรกิจนำไปประยุกต์และปฏิบัติได้จริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาจากสถาบันชั้นนำระดับนานาชาติ อาทิ Martin Roll ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวและสำนักงานครอบครัวระดับโลก และ Professor Winnie Qian PENG นักวิชาการ ที่ปรึกษา และวิทยากรเวทีการประชุมธุรกิจครอบครัวระดับนานาชาติ จะมาถ่ายทอดกรณีศึกษาของธุรกิจครอบครัวที่เติบโต รวมถึงกลยุทธ์การสร้างและการปรับตัวของธุรกิจครอบครัวในเอเชียที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารระดับแนวหน้าจากหลากหลายธุรกิจ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน บริษัท สุภารา กรุ๊ป แอนด์ จีคิว แอพพาเรล จำกัด บมจ. บ้านปู บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด บมจ. อาปิโก ไฮเทค และ บมจ. ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ ทั้งผู้บริหารรุ่นก่อตั้งและทายาทรุ่นสองรุ่นสาม มาให้มุมมองการบริหารธุรกิจครอบครัวที่ต้องให้ความสำคัญทุกมิติเพื่อปรับตัวทันความเปลี่ยนแปลง สามารถส่งต่อธุรกิจและเติบโตได้อย่างมั่นคง สัมมนาในปีนี้ยังมี session workshop ที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้เข้าร่วมตามหัวข้อที่สนใจและสอบถามวิทยากรได้อย่างใกล้ชิดด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 2 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนเป็นธุรกิจครอบครัว หรือร้อยละ 67 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นในตลาดหลักทรัพย์ และ mai เป็นบริษัทธุรกิจครอบครัว ถึง 575 บริษัท จาก 852 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 72% และใน mai อีก 28% โดยมีมูลค่าธุรกิจครอบครัวสูงถึง 8 ล้านล้านบาท ทำให้มีการจ้างงานทั้งหมดถึง 1 ล้าน 3 แสนอัตราหรือร้อยละ 74 ของการจ้างงานทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจครอบครัวไทยมีความเจริญเติบโตทั้งสินทรัพย์รวม รายได้รวมและกำไรสุทธิ โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2560 – 2566 บริษัทธุรกิจครอบครัว มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นร้อยละ 47.03 รายได้รวมร้อยละ 45.7 กำไรสุทธิ ร้อยละ 52.4 เมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด สำหรับอายุกิจการของบริษัทธุรกิจครอบครัวนับตั้งแต่ปีก่อตั้ง จนถึงปัจจุบัน ที่ยังคงจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่มีอายุยาวนาน 148 ปี คือ OHTL จำกัด มหาชน หรือโรงแรมโอเรียนเต็ล โดยอายุเฉลี่ยบริษัทธุรกิจครอบครัวคือ 36 ปี และบริษัทธุรกิจครอบครัวที่มีอายุเกิน 100 ปี มี 5 บริษัท ได้แก่ OHTL BJC OSP SCB และ SCC นอกจากนี้พบว่า บริษัทธุรกิจครอบครัวจำนวน 295 บริษัท มีรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นปริมาณ 68-69% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่มีรายได้จากต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2566 บริษัทกลุ่มนี้มีรายได้จากต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 42 ของรายได้จากต่างประเทศรวมทุกบริษัทจดทะเบียน โดยมีมูลค่า 2,492 พันล้านบาท
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวปิดท้ายด้วยว่า ธุรกิจครอบครัว บางครั้งจะมีความเห็นไม่ตรงกัน ถ้ามีสภาครอบครัวจะป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งได้และถ้านำเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้บริษัทก็จะมีความยั่งยืนซึ่งธุรกิจครอบครัวความยากจะอยู่ที่การคัดเลือกผู้นำในรุ่นต่อไป เพราะในทวีปเอเชียผู้ชายยังเป็นใหญ่ ทั้งนี้ในประเทศไทยควรจะมีการวิจัยอย่างจริงจังเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการธุรกิจให้ผู้คนในรุ่นต่อไป งานนี้จัดที่ รร.แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กทม.-513-สำนักข่าวไทย