นนทบุรี 18 ก.ค. – อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ 6 เดือนแรก โตแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังเจอเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้เศรษฐกิจโตไม่ได้เต็มที แต่คาดหวัง 6 เดือนหลังปี 67 มีหลายปัจจัยหนุนทั้งงบประมาณและการลงทุนใหม่จะดันให้ยอดจดทะเบียนตั้งใหม่พุ่งกว่า 95,000 ราย วิเคราะห์ธุรกิจสัตว์เลี้ยงและที่เกี่ยวเนื่องโตดีเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,351 ราย ลดลง 275 ราย คิดเป็น 3.61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 27,979.07 ล้านบาท ลดลง 11,760.65 ล้านบาท คิดเป็น 29.59% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีธุรกิจจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 566 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 522 ราย และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 330 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7.70% 7.10% และ 4.49% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจเดือนมิถุนายน 2567 ตามลำดับ ขณะที่ยอดจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการจำนวน 1,416 ราย ลดลง 243 ราย คิดเป็น 14.65% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ทำให้ยอดจดทะเบียนรวม 6 เดือนแรกปี 67 ทั้งสิ้น 46,383 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 145,078.60 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3,656 ราย ทุน 16,013.34 ล้านบาท 2.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 3,521 ราย ทุน 7,255.18 ล้านบาท และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,105 ราย ทุน 4,352.90 ล้านบาท ขณะที่ยอดเลิกกิจการในช่วง 6 เดือนแรกปี 67 มีทั้งสิ้นจำนวน 6,039 ราย ทุนจดทะเบียน 76,748.35 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 603 ราย ทุน 1,209.18 ล้านบาท 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 340 ราย ทุน 4,863.76 ล้านบาท และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 197 ราย ทุน 457.21 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 922,508 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22,334,762.09 ล้านบาท โดยหากดูภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของแต่ละภูมิภาค โดย World Bank คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลก จะเติบโตประมาณ 2.6% ในปี 2567 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2566 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% ในปี 2568 ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market and Developing Economies: EMDEs) คาดว่าจะเติบโตลดลงเล็กน้อยจาก 4.2% ในปี 2566 เป็น 4% ในปี 2567 และ 2568
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 สามารถฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออก แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากหนี้ครัวเรือนที่สูงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 2.5% ในปี 2567 โดยมีการขยายตัวของการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ช่วงครึ่งปีแรก 2567 โดยมองว่าธุรกิจไทยครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม – ธันวาคม 2567) เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลัง 2567 มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกันที่ 2.7% โดยมุมมองเศรษฐกิจในปี 2567 ของ SCB EIC มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเติบโตดี อีกทั้งเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกันจากภาคการผลิตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงด้านประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลแต่ละประเทศจะปรับสูงขึ้นจากผลการเลือกตั้งเกือบทั่วโลกในปีนี้ โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ
สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนธุรกิจปี 2567 ยังคงคาดการณ์การเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่ 5 – 15% หรือประมาณ 90,000 – 98,000 รายจากปัจจัยสนับสนุน เช่น นโยบายของภาครัฐ การเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติที่มีการกระตุ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี เช่น มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการผลิตและกิจการ รวมทั้ง การลงทุนจากภาครัฐที่กำลังดำเนินการหลังจากที่เริ่มจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา
การดำเนินการของภาครัฐทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้ง ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญ ซึ่งจากแผนงานของภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครึ่งปีหลังในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วง High Season ฤดูการท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนไทยสูงสุดของปี ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็นิยมท่องเที่ยวช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน น่าจะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และธุรกิจอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย และคาดว่าจะมีนักลงทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังคงมีปัจจัยท้าทาย เช่น ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากมีผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและกระทบมาถึงเศรษฐกิจของไทย รวมทั้ง การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME โดยตรง โดยหากงบประมาณลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคโดยทันทีเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจครึ่งปีแรก 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2566) แยกตามภาคธุรกิจ ดังนี้
ภาคขายส่ง/ขายปลีก ได้แก่ 1) ธุรกิจขายปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์มีอัตราการเติบโตสูงสุด 90.91% 2) ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์เติบโต 75.00% และ 3) ขายปลีกนาฬิกา แว่นตา และอุปกรณ์ถ่ายภาพเติบโต 73.08% ภาคการผลิต ได้แก่ 1) ธุรกิจผลิตโครงสร้างที่ใช้ในการก่อสร้างและเครื่องประกอบอาคาร เติบโตสูงสุด 106.67% 2) ธุรกิจผลิตกระดาษลอนลูกฟูกและกระดาษแข็งลอนลูกฟูกเติบโต 104.00% และ 3) ธุรกิจผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เติบโต 96.77% ภาคบริการ ได้แก่ 1) ธุรกิจวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีฯ เติบโตสูงสุด 132.35% 2) ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางรถโดยสารประจำทางอื่นๆ เติบโต 95.24% และ 3) ธุรกิจก่อสร้างโครงการวิศวกรรมโยธาอื่นๆ เติบโต 85.71%
อย่างไรก็ตาม กรมฯได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจสัตว์เลี้ยงและที่เกี่ยวเนื่อง เห็นว่าธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองช่วงเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจสัตว์เลี้ยงและที่เกี่ยวเนื่อง เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยได้รับอิทธิพลจากการยกระดับสัตว์เลี้ยงให้เป็นเพื่อนที่มีความสำคัญในชีวิต เกิด Petfluencer สัตว์เลี้ยงที่มีผู้ติดตามผ่านสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก มีการสร้างคอนเทนท์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของอย่างเป็นกอบเป็นกำ ทั้งนี้ แนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว (Pet Humanization) และการเลี้ยงสัตว์แบบ Petriarchy หรือ เหล่าทาสที่พร้อมจะเปย์เจ้านายแบบไม่จำกัด ทำให้เกิดการลงทุนในสุขภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยงเหมือนคนจริง ๆ และการซื้อของเล่น ของใช้ อาหารแบบพรีเมียมเพื่อตามใจน้องๆ ที่เรารัก
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังเกิดเทรนด์ใหม่ คือ การนิยมเลี้ยงสัตว์แปลก หรือ Exotic Pet เช่น งู กิ้งก่า เต่า ชูการ์ไรเดอร์ เป็นต้น โดยยอดขายผลิตภัณฑ์ของสัตว์เลี้ยง Exotic Pet เติบโตสูงกว่า 50% ขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับแมวเติบโต 8% และยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับสุนัขเติบโต 6%
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์คนแต่ละ Gen ในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง พบว่า Gen Z นิยมเลี้ยงสุนัขมากที่สุด Gen Y ต้องการเสริมพลังบวกจากแมว Gen X นิยมเลี้ยงนกและปลา ขณะที่ Baby Boomer นิยมเลี้ยงสัตว์น้อยที่สุด โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ธุรกิจสัตว์เลี้ยงและที่เกี่ยวเนื่องมีจำนวนทั้งสิ้น 5,009 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 98,797.54 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจฟาร์มสัตว์ 1,233 ราย ทุน 11,965.51 ล้านบาท ธุรกิจอาหาร/ของเล่นสำหรับสัตว์ 2,138 ราย ทุน 80,443.67 ล้านบาท และ ธุรกิจบริการและดูแลสัตว์ 1,638 ราย ทุน 6,388.36 ล้านบาท
หากดูผลประกอบการภาพรวม 3 ปีย้อนหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ปี 2564 มีรายได้รวม 218,714.93 ล้านบาท กำไร 2,963.03 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 244,530.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 25,815.30 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 11.81%) กำไร 13,656.17 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 10,693.14 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 360.89%) ปี 2566 รายได้รวม 258,702.91 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14,172.68 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 5.80%) กำไร 14,989.64 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,333.47 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 9.77%)
สำหรับการลงทุนในธุรกิจสัตว์เลี้ยงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวไทย 93,464.62 ล้านบาท คิดเป็น 94.60% และนักลงทุนชาวต่างชาติ 5,332.92 ล้านบาท คิดเป็น 5.40% โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร 1,646.90 ล้านบาท ออสเตรเลีย 870.87 ล้านบาท และ ญี่ปุ่น 728.11 ล้านบาท โดยธุรกิจสัตว์เลี้ยงและที่เกี่ยวเนื่อง เป็นธุรกิจมาแรงที่เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการดำรงชีวิตที่นิยมเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นสมาชิกของครอบครัว รวมทั้ง การดูแลที่ใส่ใจต่อสัตว์เหล่านั้นมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีรายได้รวมและผลกำไรสุทธิที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนสนใจเข้าสู่ธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะมีโอกาสในการทำกำไรได้ในระยะยาวเป็นต้น.-514-สำนักข่าวไทย