กรุงเทพฯ 28 พ.ค.- “ลวรณ” มั่นใจปี 67 เก็บภาษีที่ดินแตะ 4.3 หมื่นล้านบาท เดินหน้าทบทวนกฎหมายหลังใช้มา 5 ปี คาดแล้วเสร็จปลายปีนี้ ด้านเอกชนเสนอเก็บภาษีอัตราเดียวทุกประเภท ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย ถึงความคืบหน้าในการทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีผลบังคับใช้มา 5 ปี จะต้องมีการทบทวนตามกฎหมาย ขณะนี้มีกระบวนการในการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 15 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมให้ความเห็น 500 คน และคาดว่าการทบทวนกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
ขณะที่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงที่ผ่านมา ยอมรับว่า เจอปัญหาตั้งแต่บังคับใช้เมื่อปี 2563 เป็นช่วงโควิด 19 ระบาดมีการลดการจัดเก็บภาษี90% ให้ชำระเพียงแค่ 10% และเริ่มกลับมา จัดเก็บ 100% ในปี2565 จนทำให้ประชาชนเกิดภาวะช็อค และ ล่าสุด ในปี 2566 มีการลดให้อีก 15% แต่ก็สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้กว่า 35,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่า จัดเก็บภาษีได้ใกล้เคียงกับการจัดภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ประมาณที่ 36,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้กว่า 43,000 ล้านบาท
นายลวรณ ระบุด้วยว่าต้องการให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีความถูกต้อง จัดเก็บโฉนดที่ดินในรูปแบบดิจิทัล ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเข้ามาจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้เกิดความแม่นยำ และเก็บภาษีอัตราเดียวในแต่ละประเภทของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะมีการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำไว้ แต่หากท้องถิ่นไหนที่มีศักยภาพสามารถที่จะจัดเก็บในอัตราที่สูงกว่าก็สามารถทำได้
ปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังเป็นภาษีที่มีศักยภาพ สามารถจัดเก็บเพิ่มได้อีก เนื่องจากราคาประเมินที่ดินที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งหากมีการทบทวน ปรับปรุงให้กระบวนการและขั้นตอนในการจัดเก็บภาษี จะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มจากการจัดเก็บภาษี และบริหารจัดการภาษีได้ด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับมาตรการ LTV หรือ มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นั้น ในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี ได้มีการหารือว่าหากมีการปรับลดเกณฑ์ จะเป็นประโยชน์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง มอบให้ ธปท.ไปพิจารณา การปรับเกณฑ์ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯแบงก์ชาติ
ส่วนความคืบหน้าการฟื้นกองทุน LTF ตามแนวคิดนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) หรือ สมาคม บลจ. หารือเตรียมความพร้อมกัน เพื่อนำเสนอข้อมูล ไปเมื่อ21 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประสานจะเข้าหารือกับทาง รมว.คลัง
นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า แบงก์ชาติกลัวเรื่องการเก็งกำไร ทำให้ไม่ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ซึ่งมองว่าขณะนี้ถึงเวลาต้องผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ได้แล้ว อัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาติ ควรลดอัตราดอกเบี้ยได้แล้ว ซึ่งหากลดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ประมาณ 0.25-0.5% จะส่งผลดี เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกำลังซื้อ
ปัจจัยลบในตลาดอสังหาฯ ขณะนี้คือการเข้มงวดของธนาคารในการพิจารณาสินเชื่อผู้ซื้อบ้าน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับตั้งแต่ปี 2563 และในปี 2567 ไม่มีส่วนลด จะมีผลทางจิตวิทยาต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์บางประเภท เช่น บ้านพักตากอากาศ คอนโดมิเนียมที่ซื้อเพื่อการลงทุน เป็นต้น โดยมีข้อเสนอการจัดเก็บภาษีว่าควรเก็บอัตราเดียวในทุกประเภท เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการจัดเก็บภาษี และปิดช่องโหว่จนทำให้รัฐสูญเสียรายได้ นอกจากนี้ ตลาดยังขาดแคลนแรงงานประเภทสาขาวิชาชีพและช่างฝีมือซึ่งเป็นปัญหาต่อการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้มองว่า ตลาดอสังหาฯ ไทย ปี 2567 ยังคงมีการเติบโตแบบเปราะบางจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการของสภาพเศรษฐกิจและการเมือง ราคาจะสูงขึ้นตามต้นทุนที่ดินและค่าก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลดลง เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกำลังซื้อ ซึ่งกำลังซื้อภายในประเทศยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักอยู่ การขยายตัวจะเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนภูมิภาคจะมีเฉพาะจังหวัดเศรษฐกิจในแต่ละภาค ที่เป็นการเติบโตเฉพาะบ้านจัดสรร เช่น สงขลา เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี แต่การเติบโตโดยรวมจะชะลอตัว เนื่องจากปริมาณและราคาสินค้าเกษตรที่น่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและการส่งออกมีการแข่งขันกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่าอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2567 ภาพรวมตลาดอสังหาฯ น่าจะกลับมาเติบโตได้ถึง 5% แต่หากไม่มีการดำเนินการใดๆ อาจติดลบถึง 10% .-516-สำนักข่าวไทย