กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – “ภูมิธรรม” มอบ กต.ชี้แจงทูตแอฟริกาด่วน หลังมีข่าวความไม่สบายใจ เรื่องไทยเตรียมส่งข้าวค้างเก่า 10 ปีเข้าประเทศ ยันก่อนส่งออกทำตลาด ข้าวทุกเม็ดต้องได้มาตรฐานก่อนส่งออก คาด อคส.เตรียมประกาศเปิดประมูลข้าวทั้ง 2 โกดังภายในสัปดาห์นี้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าทราบถึงความไม่สบายใจของบางประเทศในตลาดแอฟริกาที่นิยมบริโภคข้าวเก่าและมีการพูดถึงข้าวสารค้างสตอก 10 ปี หลังเปิดประมูลและมีการปรับปรุงข้าวแล้วเตรียมที่จะส่งไปทำตลาดแอฟริกาทั้งหมดนั้น โดยยอมรับว่าจากปัญหาที่หลายฝ่ายด้อยค่าข้าวไทยและพูดถึงข้าวสารสตอกดังกล่าวมีสารตกค้างมากมายและได้มีการพิสูจน์ออกมาแล้วไม่มีสารตกค้างสามารถยังบริโภคได้ แต่ยังทำให้หลายประเทศในตลาดแอฟริกาวิตกว่าหลังจากมีการปรับปรุงข้าวลอตนี้แล้วจะส่งไปทำตลาดแอฟริกามากจนทำให้หลายประเทศไม่สบายใจตรงนี้ด้วยนั้น เรื่องนี้ทุกอย่างควรจะจบลงได้แล้วไม่ให้ฝ่ายที่ด้อยค่าข้าวไทยออกมาพูดอีกเพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหายไปมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บางประเทศในตลาดแอฟริกาได้ทราบถึงข้อเท็จจริง โดยในวันนี้ทราบว่าทางกระทรวงการต่างประเทศมีนัดหมายพูดคุยกับทูตแอฟริกาอยู่แล้ว จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศได้ทำการขี้แจงถึงข้อเท็จจริงต่างๆให้กับทูตแอฟริกาได้เข้าใจ แม้ไทยจะมีข้าวเก่า 10 ปีอยู่แต่ก่อนที่จะส่งออกไปตลาดต่างประเทศในแต่ละครั้งทุกขั้นตอนจะต้องผ่านหลักเกณฑ์มาตรฐานการส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศที่จะรับรองข้าวทุกกระสอบก่อนส่งออก ดังนั้น เอกชนรายใดที่จะส่งออกข้าวไปตลาดประเทศจะต้องทำให้ข้าวทุกเม็ดเป็นไปตามมาตรฐานก่อนส่งออก
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการกำกับดูแล ควบคุมคุณภาพมาตรฐานส่งออกสินค้าข้าวของไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดโลกในการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย กระทรวงพาณิชย์มีการกำกับดูแลและ ควบคุมคุณภาพ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ซึ่งกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพไว้ ดังนี้
(1) เมื่อผู้ส่งออกประสงค์จะส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จะต้องยื่นคำร้องต่อกรมการค้าต่างประเทศขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย ขณะเดียวกันต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า
(2) การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยดังกล่าว จะมีพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ไปปฏิบัติราชการเพื่อสุ่มกำกับการทำงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า(เซอร์เวย์เยอร์)
(3) เมื่อผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของบริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานจึงออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ผู้ส่งออกใช้ประกอบพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต่อไปโดยที่การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย จะตรวจ 2 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าได้มาตรฐานตามที่กำหนด คือ ตรวจ ณ สถานที่ส่งออก (ตรวจเบื้องต้น) โดยเริ่มจากการสุ่มตัวอย่าง สุ่มจากกองสินค้าเพื่อให้ได้ตัวแทนสินค้าที่คลอบคลุมสินค้าทั้งหมด ในกรณีสินค้าบรรจุกระสอบ ให้สุ่มชักตัวอย่างทุกกระสอบ การตรวจทางกายภาพ เช่น ตรวจความบริสุทธิ์ว่ามีข้าวชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปลอมปนหรือไม่ ตรวจขนาดและความยาวของเมล็ด สีของเมล็ด สิ่งเจือปน และความชื้น เป็นต้น โดยจะตรวจทุก 200 ตัน ที่มีการตรวจปล่อย เช่น สินค้า 1,000 ตัน จะตรวจทางกายภาพ 5 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด การจัดทำตัวอย่าง เพื่อนำไปตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงตัวอย่างที่เก็บไว้เพื่อสามารถนำมาตรวจสอบย้อนกลับได้ (2) ตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ (LAB) (ตรวจละเอียด โดยจะตรวจหาค่าต่างๆ ดังเช่นการตรวจ ณ สถานที่ส่งออก แต่จะใช้เวลาตรวจสอบมากกว่าเนื่องจากใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจเพิ่มในบางรายการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำขึ้น เช่น การตรวจความนุ่มโดยการหาค่าอมิโลสและการตรวจความบริสุทธิ์โดยการสลายเมล็ดข้าวในด่าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของการตรวจสารตกค้าง จะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อว่าจะให้ตรวจหรือไม่อย่างไรเป็นกรณีๆ ไป และกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กำหนดมาตรฐานแนะนำสำหรับมาตรฐานสินค้าข้าวหอมไทย ข้าวสีไทย ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวขาว และข้าวนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการส่งออก สำหรับตอบสนองความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคที่ มีความหลากหลายในราคาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้รับรายงานจากองค์การคลังสินค้าหรือ อคส.คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ อคส.จะมีการประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ายื่นประมูลข้าวสตอก 10 ปีได้ โดยจะเป็นการเปิดประมูลทั่วไปแบบยกโกดังทั้งหมดจะไม่นำกลับมาเปิดประมูลในรอบต่อไป โดยเอกชนที่จะเข้ามาประมูลจะต้องอ่านรานละเอียดให้เข้าใจก่อนยื่นเสนอประมูลเข้ามา ดังนั้น แม้ข้าวสารสตอกในครั้งนี้ จะมีไม่มากเพียง 15,000 ตันเท่านั้น โดยแยกเป็น
1. คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2557 ถึง 10 มีนาคม 2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 2 เดือน รวมปริมาณทั้งสิ้น 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบจาก 24 โรงสี และได้มีการระบายข้าวสารแล้ว 3 ครั้ง คงเหลือ 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ
2. คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2557 ถึง 29 เมษายน 2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 7 วัน มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ จาก 6 โรงสี ซึ่งระบายข้าวสารแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบเป็นต้น.-514-สำนักข่าวไทย